เหมืองทองคำโต๊ะโม๊ะ

27 / 09 / 2561 12:05

สุดเขตชายแดนใต้ของไทย ครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมืองแร่ทองคำ ที่นำพาคนนับพันให้เดินทางไปแสวงโชคผู้คนสมัยนั้นรู้จักกันในชื่อ เหมืองทองคำโต๊ะโมะ

เหมืองทองคำโต๊ะโมะ อยู่ในเขต อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีการค้นพบแร่ทองคำที่บ้านโต๊ะโมะมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  ในบริเวณป่าลึกของเทือกเขาสุไหนโล-ลก ซึ่งเป็นต้นน้ำของลำห้วยลิโซ สาขาหนึ่งของต้นแม่น้ำสายบุรี อยู่ห่างจากชายแดนมาเลเซีย  800 เมตร ชาวบ้านพบผงทองคำปะปนลงมากับน้ำจึงใช้ เลียง  ที่ทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายกระทะเป็นเครื่องมือร่อนทอง 

เมื่อแรกพบชาวจีนชื่อฮิว ซิ้นจิ๋ว ซึ่งค้าขายอยู่แถบชายแดนไทย-มาเลเซียนำคนงาน 50 คน เข้าไป หาทองคำด้วยวิธีการร่อนเอาตามสายน้ำตั้งแต่บ้านกาลูบีขึ้นไปทางต้นน้ำ จนเกือบถึงชายแดนมาเลเซีย และพบว่ายิ่งใกล้ต้นน้ำมากเท่าใดปริมาณทองคำก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปผู้คนจำนวนมากก็หลั่งไหลมาขุดทองที่บ้านโต๊ะมะ ประมาณกันว่ามีนักแสวงโชคมากถึงพันกว่าคน และร่อนหาทองคำได้คนละ1-2 สลึงต่อวันเลยทีเดียว

     หลังจากนั้นรัฐบาลสยามได้เข้ามาจัดการเรื่องการขุดทองโดยมอบหมายให้นายอาฟัด ซึ่งเป็นบุตรชายของฮิวซิ้นจิ๋ว ซึ่งรับสืบทอดงานขุดหาทองคำต่อจากบิดา เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ให้รัฐบาล โดยเก็บภาษีจากชาวบ้านที่เข้าไปขุดค้นหาทองคำ  และได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น "หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ" (นายอาฟัด เป็นบิดาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ นักเขียนเจ้าของนามปากกาพนมเทียนนั่นเอง และดินแดนใต้สุดอัน เร้นลับที่เหมืองโต๊ะโมะซึ่งปู่และพ่อเป็นผู้บุกเบิก คือส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจ      นวนิยายผจญภัย "เพชรพระอุมา" อันโด่งดัง นั่นเอง)

ต่อมาในปี พ.ศ.2473 โดยชาวอังกฤษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงเลิกกิจการไป ก่อนที่เหมืองทองคำจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นระบบและจริงจังในปี พ.ศ.2475 เมื่อบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Societe d"Or de Litcho เข้ามาสำรวจและพบว่าลึกลงไปในผืนดินของขุนเขาโต๊ะโมะและลิโช ซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาสุไหงโก-ลก มีแร่ทองคำอยู่จำนวนมาก ที่สำคัญเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นต์สูง จึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี

     บริษัทฝรั่งเศสดำเนินกิจการได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง แต่มีบันทึกไว้ว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2479-2483 บริษัท Societe d"Or de Litcho ขุดทองคำไปได้ถึง 1,851.44 กิโลกรัมเลยทีเดียว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเข้ามาดำเนินการเองแต่ทำได้ไม่นานก็ประสบปัญหาจึงสั่งปิดเหมืองและกลายเป็นเหมืองร้างอยู่นานหลายสิบปี ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองโต๊ะโมะให้ผู้สนใจเข้าชมบริเวณที่เคยเป็นเรือนพัก จุดล่องแพและอุปกรณ์ร่อนแร่ทองคำในปัจจุบัน


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/