พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี

19 / 04 / 2562 17:34

ที่บ้านบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีที่ เมื่อปี พ.ศ.2416  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยมีการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่นี้ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระปรีชากลการ(สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งจบการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ จากประเทศอังกฤษ ไปทำเหมืองทองและสร้างโรงเครื่องจักร  โดยการทำเหมืองแร่ทองคำแบบเปิด (open cut)
             
พระปรีชากลการ  ทำเหมืองทองอยู่ได้เพียง 5 ปีก็ต้องยุติลงเพราะเกิดคดีความฟ้องร้องกันขึ้น  ในที่สุดพระปรีชากลการ(สำอาง  อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรีและผู้ดูแลบ่อทองของรัฐบาลที่เมืองกบินทร์บุรีถูกจับกุม และถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่  28 มีนาคม พ.ศ.2421  ต่อมาบริษัท The Kabin Syndicate of Siam และบริษัท Societedes Mine de Kabin ได้เข้ามาดำเนินการต่อ  โดยเปลี่ยนมาทำเหมืองอุโมงค์  โดยการเจาะปล่องลงไปใต้ดินเพื่อหาสายแร่  ปล่องเหล่านี้มีชื่อเรียกต่างๆกันไป  เช่น  บ่อมะเดื่อ  บ่อขี้เหล็ก  บ่อพอก  เป็นต้น  แต่ภายหลังได้หยุดไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
             
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2493  เช่น กรมโลหกิจ(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในสมัยต่อมา) และกรมทรัพยากรธรณี  เป็นต้น แต่ก็ต้องเลิกไปในที่สุด เหลือเพียงพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ่อทอง เป็นอนุสรณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาการทำเหมืองแร่ทองคำในอดีตเท่านั้น

ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจำลองฉากขั้นตอนการทำเหมืองทองคำแบบเหมืองปิด การขุดอุโมงค์ลงใต้ดิน แสดงขั้นตอนการขนแร่ การแยกแร่  มีการจัดแสดงแร่ชนิดต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแร่แต่ละชนิด มีการจัดแสดงอุปกรณ์ขุดเจาะทำเหมืองแบบต่างๆ  และอุปกรณ์ร่อนแร่ของชาวบ้านที่เรียกว่า เลียง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ใกล้กับสายแร่ทองคำ ยังมีชาวบ้านใช้เลียง ร่อนหาแร่ทองคำจากตะกอนดินทรายในแหล่งน้ำกันอยู่

ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของอบต.บ่อทองและบริเวณใกล้เคียง ยังปรากฏหลักฐานพื้นที่เหมืองทองคำสมัยแรกเมื่อปี พ.ศ.2415 ที่มีชื่อเรียกว่าบ่อสำอาง ตามชื่อพระปรีชากลการอยู่ แต่เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เป็นบ่อน้ำเพื่อการชลประทานทำให้แทบไม่เหลือสภาพพื้นที่เหมืองทองคำอีกแล้ว  อีกพื้นที่เป็นการทำเหมืองทองโดยกลุ่มชาวต่างชาติ ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอบต.บ่อทอง  สันนิษฐานว่าเป็นการทำเหมืองแร่โดยการขุดเจาะบ่อหมากและบ่อกว้านแล้วนำแร่ไปแยกที่โรงตำ  แล้วนำทองคำอมัลกัมมาแยกที่โรงหลอม
             
พิพิธภัณฑ์นี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นผู้สร้างแล้วส่งมอบให้จังหวัดปราจีนบุรีในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2548  โดยปัจจุบันอยู่ในการดูแลของอบต.บ่อทอง เจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/