การผลิตเครื่องประดับทองของมาเลเซีย

15 / 07 / 2562 12:00

การผลิตเครื่องประดับทองของมาเลเซีย แต่เดิมเป็นการนําเอาวัตถุดิบทองคําจากเหมืองในประเทศมาใช้ผลิตสินค้า โดยแหล่งแร่ทองคําในประเทศมีอยู่ประมาณ 14 แห่ง กระจายอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Golden Belt อันได้แก่ รัฐปะหัง กลันตัน ตรังกานู ซาบาห์ และยะโฮร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคําได้ก่อให้เกิดการจ้างงานแก่คนในท้องถิ่นกว่า 900 คน

ลักษณะการทําเหมืองทองคำในมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนและใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน แต่ทั้งนี้ ภาคการผลิตทองคําในมาเลเซียยังคงมีข้อจํากัดตรงที่ไม่มีโรงงานสกัดทองคําภายในประเทศ เมื่อหลอมแร่ทองคําได้แล้วจะต้องส่งไปสกัดให้บริสุทธิ์ในโรงงานต่างประเทศ ดังนั้น กิจการเหมืองแร่ที่มีเจ้าของเป็นชาวมาเลเซียจึงมักสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการต่างชาติที่เป็นเจ้าของโรงสกัดทองคําเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทําธุรกิจยิ่งขึ้น จากนั้นจึงนําเข้าทองคําที่สกัดแล้วป้อนเข้าสู่โรงงานในประเทศเพื่อนําไปหลอมและขึ้นรูปชิ้นงานเครื่องประดับอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันวัตถุดิบทองคําที่ผลิตจากแหล่งในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากผลผลิตของเหมืองลดลง ประกอบกับผู้ผลิตต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการนําเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก โดยมาเลเซียต้องนําเข้าทองคําไม่ต่ำกว่าปีละ 75 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยนําเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ตุรกี ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ โดยปกติในแต่ละปีทองคําประมาณ 40-50 ตัน จะถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับทอง ซึ่งมีโรงงานกว่า 200 แห่ง ตั้งอยู่ในรัฐปีนังส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ใช้แรงงานฝีมือควบคู่กับเครื่องจักร สินค้าที่ผลิตได้ส่วนมากเป็นเครื่องประดับทองล้วนที่ไม่ตกแต่งอัญมณี และมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมนี้อยู่ราว 8,000 คน โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกเครื่องประดับทองไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ Poh Kong Holding Bhd, Tomei Group และ Habib Jewels Sdn Bhd. เป็นต้น

ในปี2016 มาเลเซียได้ลดปริมาณการผลิตเครื่องประดับทองลงประมาณร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับ
ปีที่ผ่านมา โดยใช้ปริมาณโลหะทองคําในการผลิตเครื่องประดับทองลดลงเหลือเพียง 34.4 ตัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองภายในประเทศที่ลดลง อันเป็นผลจากการประกาศใช้ภาษีสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวมาเลเซียลดการใช้จ่าายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง