หีบหมากทอง ความหวังสูงสุดของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน

30 / 08 / 2562 14:57

เชี่ยนหมากถือเป็นของใช้ประจำตัวที่สำคัญยิ่งของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน เป็นเครื่องยศที่แสดงฐานะและตำแหน่งของผู้ถือ จึงมีการประกวดประชันความงามกันอยู่เนืองๆ อีกทั้งการได้รับพระราชทานหีบหมากทองและพานหมากทองที่เรียกว่า หีบหลวง นั้นถือเป็นความหวังสูงสุดของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔และรัชกาลที่๕ ได้แบ่งลำดับความสำคัญของหีบหมากที่พระราชทานให้แก่นางในไว้เป็นขั้นดังนี้

ชั้นพิเศษ หีบและพานหมากเสวยพร้อมเครื่องในทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี สำหรับพระราชทานพระมเหสีเทวี 
ชั้นที่ ๑ หีบหมากและพานหมากพร้อมเครื่องในทำด้วยทองคำ สำหรับพระราชทานพระสนมเอก
ชั้นที่ ๒ หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี สำหรับพระราชทานพระสนม 
ชั้นที่ ๓ หีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานเจ้าจอมอยู่งาน 
ชั้นที่ ๔ หีบหมากเงินกาไหล่ทองสำหรับพระราชทานนางอยู่งาน 

นอกจากนี้ยังมีหีบหมากแบบพิเศษ ที่พระราชทานให้ฝ่ายในที่รับใช้สนองพระเดชพระคุณ อยู่งานจนครบ ๒๐ ปี และ ๓๐ ปี โดยหีบ ๓๐ ปี มี ๒ แบบคือ เป็นหีบพระศรีทองคำลงยา ประดับเพชร พร้อมลูกหีบ 3 องค์ ที่ฝามีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับเพชรโดยรอบ พร้อมช่อดอกไม้ทองคำประดับเพชร รองรับแผ่นทองคำลงยาสีชมพู ซึ่งมีพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์”  คือตั้งแต่ร.ศ. 90-119 (พ.ศ. 2414 – 2444)

อีกแบบเป็นหีบพระศรีทองคำลงยา (ลายเทพพนม) ที่ฝามีพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์” ภายใต้พระจุลมงกุฎและพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับเพชรโดยรอบ  กลางหีบเป็นแบบจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันประกอบด้วยตราและสายสะพาย เป็นทองคำลงยา ได้แก่ ลายสีเหลือง ขอบสีเขียว แดงและน้ำเงิน เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (อันเป็นโบราณมงคล)นพรัตนราชวราภรณ์ สายสีเหลืองคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (อันมีเกียรติรุ่งเรืองยิ่ง), มหาจักรีบรมราชวงศ์สายสีชมพู ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พระราชทานแก่ฝ่ายในที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาครบ 30 ปี ตั้งแต่ร.ศ. 95-125 (พ.ศ. 2419 – 2449)

หีบ ๒๐ ปี เป็นหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี ด้านฝาประดับพระบรมสาทิศลักษณ์รัชกาลที่ ๕ ทรงอาร์มล้อมเพชร เบื้องบนประดับตราพระเกี้ยวบนหมอนวางสีชมพู พร้อมแพรแถบสีชมพู พื้นในสีน้ำเงิน ตัวทอง มีคำว่า พระราชทาน เบื้องขวาล่างประดับอักษร "จปร" ไขว้ประดับเพชร และพื้นที่ว่างประดับด้วยดอกไม้เพชร ใบลงยาสีเขียวสด และมีอักษรสีทองบนแพรสีน้ำเงินเขียนข้อความ ครบ ๒๐ ปี ร.ศ.๑๑๕ หมายถึงเริ่มรับใช้สนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๙ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๙