ขึ้นทะเบียนพระราชสาส์นทองคำ ของพระเจ้าอลองพญา เป็นมรดกโลก

30 / 08 / 2562 15:07

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนพระราชสาสน์ทองคำของพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โคนบอนหรือราชวงศ์อลองพญา ถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งราชอาณาจักรเกรตบริเทน เป็นมรดกโลก 

พระราชสาส์นทองคำนี้ข้อความด้วยภาษาพม่าโบราณ สลักลงบนแผ่นทองคำแท้ 99.99% ยาว 55 ซม. หนา 12 ซม. ประดับด้วยทับทิมล้ำค่าอีก 24 เม็ด พับม้วนบรรจุลงในภาชนะทรงกระบอกมีฝาปิด ที่ทำจากงาช้าง ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ปี จากเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2299 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2301 พระราชสาส์นนี้จึงถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 แต่กษัตริย์แห่งเกรตบริเทน ไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ และโปรดเกล้าฯ ส่งต่อไปยังเมืองฮาโนเวอร์ ในแค้วนแซ็กโซนี เยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์พระราชสมภพ

หลังจากนั้นไม่มีกษัตริย์หรือพระราชินีแห่งเกรตบิเทนพระองค์ใดที่ทรงสนพระทัยพระราชสาส์นทองคำของพระเจ้าอลองพญา นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านพม่าคนหนึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว และลงความเห็นว่า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชสาส์นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับนี้ “ไม่มีค่าพอที่จะตอบกลับ” แต่ก็ไม่ได้อธิบายอะไรอีก

พระราชสาส์นถูกย้ายจากพิพิธภัณฑ์หลวงในฮาโนเวอร์ ไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ของหอสมุดก็อดฟรีด วิลเฮม ไลบ์นิซ ในเมืองเดียวกัน ตลอดช่วงเวลากว่า 250 ปี ไม่ได้มีผู้ใดให้ความสำคัญกับพระราชสาส์นทองคำนี้ เนื่องจากไม่มีใครอ่านภาษาพม่าโบราณออก นอกจากนั้น เมื่อครั้งกษัตริย์คริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ ทอดพระเนตรในปี พ.ศ.2311 ทรงทำพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงอังวะชำรุด ทำให้อ่านยากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส เยอรมนี และชาวอังกฤษใช้เวลาหลายปีช่วยกันฟื้นฟูพระราชสาสน์ขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2550 และถอดความออกมาเป็นภาษาอังกฤษจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2553  เนื้อหาเป็นการเสนอเปิดสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ และทรงเสนอให้บริษัทของอังกฤษ(อีสต์อินเดีย)ใช้ท่าเรือที่สร้างขึ้นที่เมืองพะสิม(เมืองปะเต็ง/Pathein ในปัจจุบัน) ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี พระองค์ยังมีพระราชดำริพระราชทานที่ดินจำนวนหนึ่งสำหรับให้บริษัทนี้ ตั้งสถานีการค้าขึ้นในพม่า ขึ้นที่นั่นอีกด้วย

พระราชสาส์นนี้ถูกเก็บไว้ในเยอรมนีเป็นเวลานาน 259 ปี ถือเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งของโลกที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้เป็นการเสนอร่วมกันสามฝ่าย คือ รัฐบาลเยอรมนี อังกฤษ และรัฐบาลเมียนร์มา