พระราชสาส์นห่อด้วยแผ่นทองคำ พระราชไมตรีจากรัชกาลที่ 4 ถึงพระราชินีวิกตอเรีย

30 / 08 / 2562 15:09

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2400 คณะราชทูตไทย นำโดยพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)เป็นหัวหน้าคณะราชทูต ออกเดินทางจากสยามประเทศเพื่อเชิญพระราชสาสน์ห่อด้วยแผ่นทองคำและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร

เครื่องราชบรรณาการที่ไทยส่งไปถวายพระนางเจ้าวิกตอเรียนั้น มีทั้งหมดถึง 34 ชนิด ที่สำคัญคือ พระราชสาส์นจารึกในพระสุพรรณบัตรห่อในแผ่นทองคำ แล้วใส่ในฝักทองคำลงยา และพระราชสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีก 2 แผ่น นอกนั้นเป็นพระมหามงกุฎ พระสังวาล พระธำมรงค์ สนับเพลาผ้าทรง พานทองคำ ซองบุหรี่ทองคำ ดาบเหล็กลายฝักทองคำลงยา กริชฝักนาค หอกอย่างสยาม กลองมโหรทึกปี่งา และสิ่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากประเทศสยาม ปัจจุบันของเครื่องราชบรรณาการต่างๆเหล่านี้  ยังจัดแสดงอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

เนื่องด้วยประเทศสยามนั้นไม่มีเรือเดินทะเลดีพอที่จะนำคณะราชทูตไปถึงทวีปยุโรปได้ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง จึงนำเรื่องนี้ขึ้นทูลแก่พระนางเจ้าวิกตอเรีย ทางประเทศอังกฤษจึงจัดการส่งเรือรบมารับคณะทูตไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีเป็นอุปทูต จมื่นมนเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต และให้หม่อมราโชทัย(มรว.กระต่าย อิศรางกูร) เป็นล่ามหลวงในคณะทูต ซึ่งต่อมาได้เขียนบันทึกการเดินทางไปลอนดอนด้วย จนเป็นบทประพันธ์เรื่อง นิราศลอนดอน นับเป็นคณะทูตชุดแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้นำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีครั้งใหม่กับชาวยุโรป

ในจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยเขียนเล่าเหตุการณ์ไว้ว่าว่า ในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2400 คณะทูตไทยและผู้ติดตาม ประกอบด้วย ราชทูต อุปทูต และตรีทูต ผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ 2 คน ล่าม 4 คน นักเรียน 2 คน เสมียน 3 คน หมอยา 1 คน หมอนวด 1 คน และคนใช้อีก 11 คน รวมทั้งสิ้น 27 คน ลงเรือพระที่นั่งชลพิมานไชยล่องไปจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากนั้นจึงเชิญพระราชสาส์นขึ้นเรือพระที่นั่งกลไฟสยามอรสุมพล ใส่ไฟใช้จักรแล่นออกทะเลไปถึงเรือรบอังกฤษที่จอดอยู่ เรือรบอังกฤษลำนี้ชื่อ เอนเคาเตอร์ เป็นเรือขนาดใหญ่มาก มีความยาวถึง 214 ฟิต กว้าง 33 ฟิต กินน้ำลึก 18 ฟิต มีกัปตันและนายทหารอังกฤษ 21 คน รวมทั้งลูกเรืออีก 186 คน เรือรบอังกฤษยิงปืนสลุต 9 นัด แล้วก็แล่นออกท้องทะเล ผ่านเมืองสิงคโปร์ เมืองไคโร (ประเทศอียิปต์) ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองอาเล็กซานเดอร์จึงเปลี่ยนเป็นเรือกาเรดอกและแล่นต่อไปจน วันอังคารเดือน 12 ขึ้น 10 คำ เวลายาม 1 จึงถึงท่าเมืองปอร์ดสมัท ประเทศอังกฤษ
เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว คณะทูตไทยเดินทางโดยรถไฟต่อไปถึงกรุงลอนดอน  และเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียเพื่อถวายพระราชสาส์นของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระนางเจ้าวิกตอเรียรับด้วยพระหัตถ์ และวางไว้ข้างพระองค์ และทรงมีพระราชดำรัสตอบ ใจความว่า

“....เรามีความยินดีในการที่รับราชทูต ซึ่งมาแต่พระเจ้ากรุงไทยทั้งสองพระองค์ เราหมายใจว่าพระองค์จะเป็นที่ยั่งยืน ด้วยเราเห็นราชทูตนั้นเหมือนเป็นของสำคัญแห่งไมตรีของพระเจ้ากรุงไทยทั้งสองพระองค์ และหมายว่าพระองค์ท่านทั้งสองจะเป็นญาติสัมพันธมิตรรักษาอาณาจักรและราษฎรให้ดียิ่งขึ้นไป จึงได้เปลี่ยนทำหนังสือสัญญาแก่เรา เราก็เอาใจใส่มาด้วยหมายว่าหนังสือสัญญาที่ทำใหม่นี้ จะให้เป็นที่มั่นคงในทางพระราชไมตรี และมีคุณยิ่งขึ้นไปทั้งสองพระนคร และลูกค้าวานิชได้ค้าขายต่อกันทั้งสองฝ่าย อนึ่งเรายินดีนักด้วยรู้ว่าพวกขุนนางของเราที่ให้ไปรับท่านทั้งปวง ได้เอาใจใส่ในพวกราชทูตให้มีความสุข จนตลอดถึงเมืองอังกฤษ โดยความชอบธรรม....”