ห่านทองคำ “โกลเดนกูสอะวอร์ด”รางวัลสำหรับงานวิทยาศาสตร์

30 / 08 / 2562 15:13

“โกลเดนกูสอะวอร์ด” หรือ รางวัลห่านทองคำ เป็นรางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ  แม้บางชิ้นงานอาจดูเป็นงานวิจัยที่ตลก แต่กลับมีประโยชน์และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง เช่นการค้นพบแมงกะพรุนเรืองแสง การปลูกถ่ายกระดูกด้วยประการัง และการคิดค้นที่นำไปสู่การพัฒนาเลเซอร์ โดยพิธีอบรางวัลประจำปีจะจัดขึ้นที่วอชิงตัน ดี ซี สหรัฐฯ

รางวัลห่านทองคำ (Golden Goose Award) มีนายจิม คูเปอร์ ผู้แทนราษฎรสหรัฐจากเทนเนสซีเป็นต้นคิดโดย ให้ความเห็นว่าเราควรตระหนักถึงงานวิจัยที่คู่ควรต่อการได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งอาจจะเป็นงานวิจัยที่ดูตลก แต่ประโยชน์ใช้สอยจากงานเหล่านั้นทำให้เราไม่อาจหัวเราะเยาะได้ จุดเริ่มต้นของคูเปอร์นี้มาพร้อมกับแนวคิดที่จะให้ความรู้แก่สาธารณะและสภาคองเกรสได้ตระหนักถึงคุณค่าของการให้ทุนวิจัยแก่งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ชื่อของรางวัลนั้นอ้างถึงนิทานอีสปเรื่องห่านที่วางไข่เป็นทองคำ

สำหรับรางวัลห่านทองคำนี้ จะมอบเป็นเกียรติแก่งานวิจัยที่แม้การศึกษายังไม่ชัดเจนแต่นำไปสู่
การค้นพบที่ยิ่งใหญ่และมีผลกระทบที่สำคัญ หรือการค้นพบโดยบังเอิญแต่ส่งผลกระทบที่สำคัญ
ต่อมนุษยชาติและเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมอบรางวัลให้เฉพาะงานวิจัยที่ได้สร้างประโยชน์แล้ว แต่จะไม่ให้รางวัลแก่งานวิจัยที่ “อาจจะ” หรือ “คาด”ว่านำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ 

มีงานวิจัยที่ได้รับจากการประกาศรางวัลไปแล้วเช่นงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ 4 คนที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างวัสดุปลูกถ่ายกระดูกด้วยปะการังที่ค้นพบในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นำโดย ศ.ชาร์ลส ทาวเนส และคณะที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม “เลเซอร์” และได้สร้างคลื่นแสงเมเซอร์ ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งคลื่นเมเซอร์นี้ คือ คลื่นไมโครเวฟที่ขยายขนาดจากการแผ่รังสีที่ปล่อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานนี้ได้วางรากฐานสู่การพัฒนาแสงเลเซอร์ที่นำไปสู่เทคโนโลยีอันมีประโยชน์อย่างนับไม่ถ้วน ทั้งสื่อดิจิตัล ซีดี การสื่อสารผ่านดาวเทียม การผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งงานวิจัยเมเซอร์นั้นได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯและกองทัพเรือสหรัฐฯ 

ที่น่าแปลกสำหรับรางวัลโกลเดนกูสอะวอร์ด คือ มีการประกาศมอบรางวัลถึงปีละ 3-4 ครั้ง ส่วนงานมอบรางวัลประจำปีจะจัดขึ้นที่วอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐฯ