ทองกิมซัว

10 / 09 / 2562 18:11

ทองกิมซัว คือ ทองคำเปลวชนิดหนึ่ง คำว่า กิมซัวเป็นภาษาจีน โดย “กิม” แปลว่า ”ทอง” และ ”ซัว” แปลว่า ”ทราย” เกิดจากขั้นตอนในการผลิตที่ต้องสกัดด้วยวิธีโบราณ คือ การใช้สารเคมี เช่น น้ำกรด ในการแยกสกัดให้เป็นทองบริสุทธิ์ สีของทองคำหลังการสกัดนั้นจะออกมาในสภาพของทรายสีน้ำตาลปนทองซึ่งได้ความบริสุทธิ์สูงถึง 99.5-99.7% เมื่อทรายมาหลอมรวมกันก็จะกลายมาเป็นทองคำแท่ง จึงเรียกว่าทองกิมซัว

เนื่องจากทองกิมซัวเป็นทองคำซึ่งผลิตได้ยาก เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในการผลิต ทำให้คนสกัดทองต้องสูดดมเอาสารเคมีที่เข้าไปด้วย ทำให้ป่วยได้ง่าย อีกทั้งวิธีการสกัดทองชนิดนี้ใช้เวลานานและสกัดด้วยเครื่องไม่ได้ อีกทั้งในการสกัดจะมีมลภาวะออกมากับน้ำและอากาศ ทำให้การทำทองกิมซัวเริ่มสูญหายไปจากท้องตลาด

ทองกิมซัว เป็นทองคำเปลวที่มีปริมาณทองคำสูงกว่าทองคำ 96.5 % ประมาณ 800 บาทต่อ 15.2 กรัม แต่ทองคำเปลวที่ใช้กิมซัวในการผลิตจะมีลักษณะเงา มีสีเหลืองออกแดงแบบโบราณ เรียกทองคำชนิดนี้ว่า ทองดอกบวบ

ทองคำเปลวที่เป็นทองคำแท้ในประเทศไทย จะมีอยู่ 2 เกรดคือ
1. ทองคำเปลว 99% ซึ่งในภาษาช่างส่วนใหญ่จะเรียกว่า ทองกิมซัว
2. ทองคำเปลว 96% หรือประมาณทองรูปพรรณ

ซึ่งช่างส่วนใหญ่จะใช้ทอง 96% เพื่อประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่การใช้ทอง 99% เท่านั้น เพื่อให้สีของชิ้นงานมีความเข้ม สด และเงางามกว่า 

ทองคำเปลว คือทองที่ตีแผ่จนเป็นแผ่นที่บางมาก มักจะใช้สำหรับการปิดทอง  ปิดบนองค์พระพุทธรูปหรือสิ่งสักการะ  ปัจจุบันมีการทำทองคำวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใช้งานแทนทองคำเปลวที่ทำจากทองคำแท้เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยสังเกตความแตกต่างได้ง่ายคือ ทองคำวิทยาศาสตร์ เมื่อใช้นิ้วมือขยี้จะไม่ติดนิ้วมือและขาด แตกเป็นชิ้นๆ  ส่วนทองคำเปลวแท้ เมื่อใช้นิ้วมือขยี้ทองคำเปลวจะติดนิ้วมือมาและจะมีสีแวววาวกว่าทองคำเปลววิทยาศาสตร์

นอกจากใช้ทองคำเปลวปิดทององค์พระและสิ่งของมีค่าต่างๆแล้ว ทองคำเปลวยังถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ เช่น ใช้ในทางการแพทย์ ด้านความสวยความงาม และถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เป็นต้น