เครื่องทองรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

13 / 09 / 2562 14:37

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่เมื่อปีพุทธศักราช 2325 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ สำหรับเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งที่เป็นส่วนขององค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีการสร้างต่อๆกันมาในหลายๆรัชกาล มีเครื่องทองหลายชิ้นที่มีค่า และถือเป็นเครื่องทองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ประณีตงดงาม และมากความหมาย อยู่คู่พระมหากษัตริย์ไทยและราชวงศ์ไทย มาจนถึงปัจจุบัน เครื่องทองเหล่านั้นได้แก่

พระอนุราชมงกุฎ หรือ มงกุฎดอกไม้ไหว
ทำด้วยทองคำลงยา ประดับพลอยสีขาว มีเกี้ยวประดับตรงส่วนยอดสามชั้น เกี้ยวทำเป็นลายรักร้อย ตรงส่วนที่ประดับพระกรรณทำเป็นกรรเจียกจอนลงยาสี ฝังพลอย สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ 2 ) ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาพงศ์ทรง เมื่อคราวลงสรงเฉลิมพระนามาภิไธย เมื่อพ.ศ. 2345 ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร(รัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515

พระชฎาห้ายอด หรือพระชฎามหากฐิน
ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ปลายมี 5 ยอด เครื่องประกอบมีใบสันและกรรเจียก หรือปักขนนกวายุภักษ์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เป็นพระชฎาที่พระมหากษัตริย์ใช้ทรงในงานพระราชพิธีใหญ่ เช่น ในการเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร และในการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราไปถวายผ้ากฐิน บางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงใช้งานพระราชพิธีโสกันต์ 

หีบพระศรีทองคำลงยา
สลักลายดอกลอยและลายแก้วชิงดวงเป็นพื้น ตรงกลางมีตราวชิราวุธประดิษฐานเหนือช้างเอราวัณ ตราวชิราวุธเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6 ) ใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระองค์เจ้าฝ่ายหน้า ในพระราชพิธีโสกันต์

พระเต้าทองคำลงยาพร้อมพานรอง
ฝีมือช่างทองในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ 1 ) เป็นลายพันธุ์พฤกษา องค์พระเต้ามีคอสูงลายที่บ่าเป็นลายกระจัง ที่คอคนโทรัดด้วยปลอกแบบกำไล ยอดฝาสลักลายแบบยอดปริก ซ้อน 3 ชั้น ส่วนพานรองทำด้วยทองคำลงยา เป็นลายกลีบบัวประกอบลายก้านต่อดอก เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ขันน้ำพานรองทองคำพร้อมจอก
ตัวขันเป็นทองเกลี้ยงสลักลายเฉพาะขอบแบบลายเบา พานรองสลักลายกลีบบัวมีสันกลาง ลายที่สลักเป็นลายกระจังตาอ้อยแบบก้านต่อดอก จอกสลักลายเบาที่ขอบ ขันน้ำพานรองนี้เมื่อใช้งานจะมีกรวยเป็นผ้าปักครอบ เรียกว่า กรวยคลุมปัก

ยังมีเครื่องทองรัตนโกสินทร์อีกหลายชิ้น ที่มีความหมาย ทรงคุณค่า สะท้อนความเป็นอารยะและความรุ้งเรื่องของบ้านเมืองและราชวงศ์ ซึ่งจะได้นำเสนอในตอนต่อไป