สถานการณ์การส่งออกทองคำและเครื่องประดับไทย ระหว่าง ม.ค.-ก.ค.

13 / 09 / 2562 14:47

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 ปรากฏว่า ทองคำ คือสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด

ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คือประเภทของทองคำที่มีมูลค่าการส่งออดสูงสุด ใน สัดส่วนร้อยละ 50.88 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทยโดยรวม เติบโตสูงถึงร้อยละ 72.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2561 โดยเป็นผลจากการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา เนื่องด้วยราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,412.98เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในเดือนกรกฎาคม โดยได้รับปัจจัยหนุนจากจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเหรียญสหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลสงครามการค้าโลกหลังสหรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษีสินค้าจากยุโรป (อียู) รวมถึงความกังวลในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกทองคำฯ ใน 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 56 รองลงมาเป็นสิงคโปร์ และกัมพูชา ตามลำดับ

ในขณะที่เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.26 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ10.53 โดยการส่งออก เครื่องประดับทอง ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.24 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ตลาดหลักในอันดับ 1, 2 และ 4 ได้ลดลงร้อยละ 12.02, ร้อยละ 15.40 และร้อยละ 19.40 ตามลำดับ

ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 3 และ 5 เติบโตได้ร้อยละ 1.48และร้อยละ 41.60 ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประดับเงิน ลดลงมากถึงร้อยละ 19.75 เนื่องจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลงโดยเฉพาะตลาดหลักใน 5 อันดับแรกอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน ออสเตรเลีย และฮ่องกง ที่ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.96, ร้อยละ 19.27, ร้อยละ 3.18,ร้อยละ 37.05 และร้อยละ 24.07 ตามลำดับ

เครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 3.5 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับ 4 ได้ลดลงร้อยละ 45.18 ส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 1, 2, 3 และ 5 เติบโตได้ร้อยละ11.64, ร้อยละ 12.19, ร้อยละ 23.45 และร้อยละ 52.14 ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 10.21 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หดตัวลงร้อยละ 6.48 โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ5.32 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 36 ได้ลดลงร้อยละ 23.12 ในขณะที่การส่งออกไปยังเบลเยียม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับ 2, 3, 4 และ 5 เติบโตได้ร้อยละ 1.13, ร้อยละ 20.53, ร้อยละ 36 และร้อยละ 97.21ตามลำดับ

พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 9.60 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 20.41 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน(ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ขยายตัวร้อยละ 11.70 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์อิตาลี และอินเดีย ตลาดหลักใน 5 อันดับแรกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29, ร้อยละ 21.29, ร้อยละ 25.03, ร้อยละ 83.44และร้อยละ 38.90 ตามล าดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 14.67 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ตลาดสำคัญในอันดับ 2, 3, 4 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 50.79, 4.62เท่า, ร้อยละ 73.53 และร้อยละ 33.10 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1 อย่างฮ่องกง หดตัวลงต่อเนื่องร้อยละ 5.94