เทคนิคใหม่ ใช้ยูคาลิปตัสช่วยค้นหาแหล่งแร่ทองคำ

26 / 09 / 2562 11:33

มีผลงานวิจัยที่น่าตื่นเต้นมากเมื่อพบแร่ทองคำในใบ เปลือและลำต้นของ “ยูคาลิปตัส” ต้นไม้ที่ช่วยบ่งบอกได้ว่าสถานที่นั้นมีทองคำฝังอยู่ใต้ดินหรือไม่ 

นักวิจัยจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพ (CSIRO)ได้ค้นพบอนุภาคทองคำที่ซ่อนอยู่ในใบและเปลือกของต้นยูคาลิปตัสที่ขึ้นในเขตคัลกูร์ลี  พื้นที่ห่างไกลในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นแหล่งตื่นทองสำคัญในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1800 การค้นพบครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยเปิดหนทางใหม่ๆ ในการระบุตำแหน่งของแร่ทองคำหายากที่อยู่ใต้ดินลึกได้

นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นยูคาลิปตัส เป็นต้นไม้ที่มีระบบรากแผ่กระจายลงไปในดินได้ลึกถึง 40 เมตร เพื่อทำหน้าที่หาความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายปั๊มไฮโดรลิก คอยดูดน้ำที่มีอนุภาคทองคำจากแร่มีค่าที่มักอยู่ลึกจากพื้นดินลงไปราว 30 เมตร เมื่อน้ำเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าไปในลำต้น แต่อนุภาคทองคำที่สันนิฐานว่าน่าจะเป็นพิษต่อต้นไม้ จึงถูกขับออกไปสะสมที่ใบหรือกิ่งก้าน และจะหลุดร่วงจากต้นได้ในเวลาต่อมา

ในการวิจัยนี้ ทีมวิจัยได้อาศัยเครื่องซินโครตรอน ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคชนิดหนึ่ง ในการทำหน้าเอ็กซเรย์เพื่อพิสูจน์รายละเอียดของสสารหนึ่งๆ ในเชิงลึก จนพบสายแร่ทองคำในใบไม้ กิ่งไม้ และเปลือกไม้ของต้นยูคาลิปตัส ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการคำนวณจึงพบอีกว่า ต้องนำใบยูคาลิปตัสอย่างน้อย 500 ใบมาสกัด จึงจะได้ทองคำมากพอจะทำแหวนแต่งงานได้ 1 วง

ปัจจุบัน บริษัทเหมืองทองคำหลายแห่งที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้การวิจัยชิ้นนี้ และนักวิจัยเองก็เชื่อว่าด้วยการใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ยังอาจนำมาใช้หาแร่โลหะอื่นๆอย่างทองแดงและสังกะสีได้ด้วย เพราะวิธีการค้นหาแหล่งแร่ทองคำใต้ดินในปัจจุบัน จะกระทำโดยการขุดสำรวจ หรือการพบโดยตัวทองคำส่วนหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาเหนือผืนดิน ซึ่งต้องใช้งบมหาศาลและบางครั้งก็ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงไป

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตทองคำใหญ่อันดับสองรองจากจีน ขุดพบแร่ทองคำเกือบ 80 ตันเมื่อปีที่แล้ว  โดยสำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐได้ประเมินว่าทั้งโลกเหลือทองคำอยู่เพียง 51,000 ตันเท่านั้น จึงทำให้ราคาทองคำมีมูลค่าเพิ่มสูงมากอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าด้วยตัวเลขมูลค่ามหาศาลนี้ ทำให้คนในวงการเหมืองแร่ต้องสรรหาวิธีใหม่ๆที่จะช่วยลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง