กำไลข้อเท้า ความเชื่อทางวัฒนธรรมที่หายไป

25 / 12 / 2562 14:12

กำไลข้อเท้า จัดเป็นเครื่องประดับชิ้นแรกๆที่ได้รับ หรือมอบให้แก่กันเพื่อเป็นของรับขวัญตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งกำไลแต่ละวงก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสถานะทางสังคม มีทั้งที่ทำจากทองคำ เงิน จนถึงสำริด มีทั้งแบบลวดลายวิจิตรไปจนถึงแบบเรียบๆ ดังปรากฏในบันทึกภาพถ่าย ภาพเขียนหรือเอกสารต่างๆ

คนสมัยก่อนเชื่อว่าการใส่กำไลข้อเท้าให้เด็กนั้น จะทำให้เกิดความเป็นมงคลได้รับโชคลาภวาสนา นำพาสิ่งดีๆเข้าสู่เด็ก แต่ความจริงอาจเป็นเพียงกุศโลบายของคนโบราณในการเลี้ยงเด็ก เพราะกำไลข้อเท้าเด็กส่วนมาจะมีกระพรวนห้อยอยู่ด้วย เมื่อได้ยินเสียงกระพวนก็จะทำให้พ่อแม่รู้ว่าลูกกำลังหลับหรือตื่น รวมถึงการบอกตำแหน่งของเด็กว่าอยู่ที่ไหนนั่นเอง
       
ส่วนการสวมกำไลของสตรีไทยในสมัยโบราณนั้น นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะกำไลข้อเท้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงฐานะและสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่  เจ้านายในวังหรือชนชั้นสูง จะนิยมสวมกำไลที่ทำจากทองหรือเงิน โดยมักมีลวดลายที่ประณีตวิจิตรบรรจง มีการลงยาหรือตกแต่งด้วยอัญมณี ส่วนชนชั้นสามัญรวมถึง คหบดีก็จะนิยมสวมกำไลทอง หรือเงิน ที่ไม่มีลวดลายหรือมีลวดลายเพียงเล็กน้อย หรือจะเป็นกำไลทองเหลืองหรือนากก็ได้เช่นกัน แต่หากเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะสวมกำไลที่ทำจากโลหะสำริดและไม่มีลวดลายใดๆ ซึ่งรูปแบบกำไลที่ได้รับความนิยมมากคือ กำไลหัวบัว โดยปลายทั้งสองข้างมีรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม

นอกจากนี้ กำไลข้อเท้ายังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าลูกสาวบ้านไหนที่ยังไม่มีคู่ครอง ในอดีตสตรีไทยที่ยังสวมกำไลข้อเท้าครบทั้งสองข้างนั้น หมายถึงหญิงที่ยังไม่ได้ออกเรือน การถอดกำไลข้อเท้าจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อหญิงผู้นั้นได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้วเท่านั้น 

แม้ว่าธรรมเนียมการสวมกำไลข้อเท้าจะหายไปจากสังคมไทยแล้ว หากแต่ความนิยมในเครื่องประดับชนิดนี้ก็ยังคงมีอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบและความเชื่อไป โดยยึดคำว่า กำไร ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า กำไล จึงเชื่อว่าการรสวมกำไลจะช่วยเพิ่มพูนกำไรในด้านการค้าและการทำธุรกิจได้

พบว่าการใส่กำไลข้อเท้ามีมานับพันปีแล้ว ทั้งในอียิปต์และในเอเชีย ซึ่งอาจทำจากเงิน ทอง ลูกปัด หรือหนังสัตว์ และการใส่กำไลข้อเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะในพิธีแต่งงาน