อัฐิพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดทองทั่ว

07 / 01 / 2563 09:35

วัดทองทั่ว ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาสระบาป หมู่ 4  ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นวัด
เก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่อยู่คู่กับเมืองจันทบุรีมานานกว่า 200 ปี มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งเป็นที่รวบรวมไพร่พลก่อนที่จะยกทัพไปกอบกู้เอกราชจากพม่า และเป็นวัดที่เชื่อว่าเป็นที่เก็บ"พระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน"อีกด้วย

ตามประวัติเล่าว่ามีการพบกระดูกเมื่อคราวปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระประธานในโบสถ์เมื่อปี พ.ศ.2472 ที่เชื่อกระดูกที่พบนี้คือพระอัฐิของพระเจ้าตากครั้งแรก เพราะมีแผ่นทองซึ่งเขียนเป็นภาษเขมรบรรจุไว้ในโกศเขียนไว้ว่า “เป็นพระอัฐิพระเจ้าตาก พระยาจันทบูร(จันทบุรี)นำมา” แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันแผ่นทองคำนั้นได้หายสูญหายไป สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว

วัดทองทั่ว เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่อยู่คู่กับเมืองจันทบุรีมานานกว่า 200 ปี มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงมารวบรวมไพร่พลอยู่ในเมืองจันทบุรี ก่อนที่จะกอบกู้เอกราชให้กับอยุธยาได้สำเร็จ ชื่อวัดทองทั่ว ตั้งตามตำนาน เมืองพระนางกาไว (พระนางกาไวเป็นมเหสีองค์ใหม่ของพระเจ้าพรหมทัตหลงใหลแห่งเมืองเพนียด เมื่อมีพระราชโอรสนางได้ทูลขอพระราชสมบัติจากพระเจ้าพรหมทัต ทำให้เจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงศ์สุริยคราสพระราชโอรสจากมเหสีองค์เก่าต้องไปสร้างเมืองใหม่ เรียกว่า เมืองสามสิบ ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต นางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระโอรส ทำให้เจ้าเมืองสามสิบยกทับมาตีเมืองเพนียด หวังเอาพระนครคืน ทัพนางกาไวสู้ไม่ได้ลูกชายก็สิ้นพระชนม์ นางคิดหนีจึงได้ขนทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง ออกมาโปรยหว่านเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจทหารให้มั่วแต่เก็บเงินทองจะได้ตามนางไม่ทัน) สถานที่ๆนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น ปัจจุบันก็คือบริเวณที่ตั้งวัดทองทั่วนั่นเอง

วัดทองทั่วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2318 สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอาราม
หลวงมาก่อน เพราะมีหลักฐานจากใบสีมารอบพระอุโบสถเป็นใบสีมาคู่ทั้ง 8 ทิศ อยู่ในสมัยกรุงธนบุรี  โบสถ์มีสิงห์ตั้งอยู่ 1 ตัว ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คือ "พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์" หรือ "หลวงพ่อทอง" เป็นงานศิลปะช่างพื้นบ้านที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพ.ศ.2471 ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน ทำให้พระประธานเอียงทรุดไปด้านหนึ่ง ชาวบ้านจึงช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง แต่ส่วนฐานพระประธานกลับทรุดหลุดกะเทาะออก จนได้พบพระยอดธงเนื้อชิน เนื้อเงิน เนื้อทอง เนื้อนาค เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ที่วัดทองทั่วยังเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุศิลปเขมรอีกหลายชิ้น เช่น ทับหลังแบบถาลาปริวัติ และทับหลังแบบไพรกเมง (พ.ศ.1150-1250) เสาประดับกรอบประตูแบบนครวัด และโกลนพระคเณศทำจากหินทรายสีขาว เป็นต้น