กระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำ ของ UAE

07 / 02 / 2563 10:58

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Regulatory) เพื่อช่วยลดหรือกำจัดทองคำแท่งที่ไม่ผ่านการรับรองแหล่งที่มาให้หมดไปจากตลาด และช่วยสร้างความโปร่งใสให้อุตสาหกรรมทองคำมากขึ้น
           
ปัจจุบันการเข้าร่วมกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำใน UAE ยังคงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แม้ผู้ประกอบการบางรายยังมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่บ้าง แต่ในสถานะที่UAE (ดูไบ) เป็น “เมืองแห่งทองคำ” (City of Gold) มาตรการนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อช่วยจัดการปัญหาการได้มาซึ่งทองคำจากเหมืองที่ไม่มีธรรมาภิบาลโดยเฉพาะทองคำจากแหล่งผลิตในแอฟริกา

โดยการเข้าร่วมระบบการรับรองแหล่งที่มาของทองคำอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Regulatory) นั้นผู้ประกอบการในธุรกิจทองคำและเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นผู้ขายปลีก ผู้ขายส่ง ผู้ค้าทองคำแท่ง และกิจการโรงงานสกัดทองคำ จะต้องตรวจสอบว่าทองคำที่ซื้อมาและนำไปใช้งานนั้นมาจากแหล่งผลิตที่ผ่านการรับรองและติดตามข้อมูลได้  สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึง “ผู้จัดหาทองคำสองรายก่อนหน้านั้น” แต่หากไม่สามารถระบุข้อมูลดังกล่าวได้ ก็ไม่ควรดำเนินการซื้อขายต่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมชี้ว่าทองคำจากแหล่งทำเหมืองที่ไม่ผ่านการรับรองแหล่งที่มานั้นไม่ใช่ปัญหาในระดับค้าปลีก แต่เป็นสิ่งที่ผู้สกัดทองคำทุกรายต้องพึงระวัง เพราะทองคำที่ไม่ผ่านการรับรองอาจอยู่ในรูปของเม็ดทองคำขนาดเล็กซึ่งส่งตรงไปยังโรงงานสกัดทองคำเพื่อเลี่ยงภาษี โรงงานอาจซื้อเม็ดทองคำเหล่านี้ได้ในราคาลดพิเศษ แล้วนำไปสกัดและแปรรูปให้เป็นทองคำแท่ง

            ในขณะที่ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่นั้นไม่ได้รับซื้อทองคำดิบ แต่จะซื้อทองจากธนาคารทองคำที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังมีมาตรฐานการดำเนินงานที่เข้มงวดอยู่แล้ว เช่น บริษัท Malabar Gold & Diamonds ผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องประดับทองรายใหญ่ 1 ใน 5 รายสำคัญของดูไบ ระบุว่า ทองคำที่บริษัทใช้กว่าร้อยละ 80 มาจากธนาคารทองคำ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นทองคำรีไซเคิลซึ่งมาจากผู้ซื้อในประเทศ ฉะนั้นทองคำแท่งที่จัดหามาอย่างไม่ถูกต้องนั้นมีจำนวนน้อยมากในตลาดUAE  ขณะเดียวกันการขอรับการตรวจสอบว่าเป็นกิจการที่จัดหาทองคำอย่างถูกต้องไม่ยุ่งยาก แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ต้องการเข้าร่วม เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มภาระต้นทุนสำหรับผู้ค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความต้องการทองคำชะลอตัว

            ดังนั้น กระบวนการรับรองแหล่งที่มานี้น่าจะได้ผลในระดับผู้สกัดทองคำมากกว่าในระดับอื่นๆ แต่จากมุมมองของภาคอุตสาหกรรม ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมแนวทางการรับรองก็จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วน
           
โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะประเทศศูนย์กลางการค้าทองคำและเครื่องประดับระดับโลก มุ่งเน้นการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานหลัก 3 ข้อคือ ธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และนวัตกรรม