Thai Silver Jewelry is the Best

29 / 09 / 2563 17:01

นอกจากเครื่องประดับทองแล้ว เครื่องประดับเงินของไทยก็มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งในด้านมาตรฐานการผลิต คุณภาพ และดีไซน์ จึงครองความเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน โดยมีแหล่งผลิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งยังมีแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติอีกหลายแหล่งได้แก่

           เครื่องเงินสุโขทัย กำเนิดจากฝีมือช่างสุโขทัยในพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งมีวิชาความรู้เช่นเดียวกับช่างทำเครื่องทอง เอกลักษณ์ของเครื่องเงินสุโขทัยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทองสุโขทัย คือ คงลวดลายทางศิลปะของสุโขทัยเอาไว้ ทั้งลายโบสถ์หรือวิหาร ลายเครื่องสังคโลก ลวดลายธรรมชาติ และลายไทยต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งจากเทคนิคการถักลาย การลงยาสี และการประดับพลอยเหมือนเครื่องทอง

เครื่องเงินเมืองน่าน ซึ่งมีทั้งเครื่องเงินโบราณท้องถิ่นน่าน และเครื่องเงินชาวเขา ที่เรียกว่า “ชมพูภูคา” ชิ้นงานส่วนใหญ่ทำขึ้นด้วยมือ ใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงกว่ามาตรฐาน เป็นเม็ดเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์ระหว่าง 96-98% ซึ่งมีความอ่อนตัวสูงกว่าเนื้อเงินทั่วไป ทำให้นำไปตีหรือขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น

เครื่องเงินวัวลาย  บ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ช่างฝีมือรุ่นแรกได้รับการฝึกฝีมือจากช่างพุกาม และถ่ายทอดทักษะ รูปแบบการทำเครื่องเงินมาแบบรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านเครื่องเงิน” (Silver Village)มาอย่างยาวนาน

เครื่องเงินนครศรีธรรมราช มีการนำลวดลายจากเครื่องทองมาประยุกต์ เอกลักษณ์เครื่องเงินนครเป็นลักษณะเครื่องเงินถักทั้งแบบสี่เสาและหกเสา หรือแบบสามกษัตริย์ทำด้วยทอง เงิน นาก โดยงานเครื่องถมเมืองนครเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ รวมทั้งเครื่องประดับเม็ดนโม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเงินนครศรีธรรมราช

            สาเหตุที่ทำให้เครื่องประดับเงินของไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก คือราคาไม่สูงมาก  เมื่อเทียบกับโลหะมีค่าสีขาวอื่นๆ อย่างทองขาวและแพลทินัม นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น อีกทั้งยังสามารถสร้างสรรค์รูปแบบและดีไซน์ สินค้าได้หลากหลายและทันสมัย มีสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีการนำโลกะมีค่าอื่นๆมาผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าและรูปแบบอีกด้วยเช่น ทำเป็นเครื่องประดับเงินหุ้มทองคำแท้ 18 กะรัต และ 24 กะรัต หรือหุ้มด้วยโรเดียมสีดำ เป็นต้น

ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยอินเดีย เยอรมนี อิตาลี และจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 25.95, ร้อยละ 7.65, ร้อยละ 7.14 ร้อยละ 5.34 และร้อยละ 0.56 ตามลำดับ