ทองคำในระบบเงินตราไทย

29 / 09 / 2563 17:09

มีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าในพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีการนำทองคำมาใช้ในระบบการค้ามาตั้งแต่สมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งมีทั้งเหรียญกลมและแบน มีทั้งชนิดเงินและทองคำหลายขนาดอีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับทองคำยังปรากฏบนศิลาจารึกหลักที่ 1 ในสมัยสุโขทัยกล่าวถึงการค้าทองคำด้วย

ในระหว่างปีพ.ศ. 1893 – 2310 บรรดาหัวเมืองในอำนาจการปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เช่นเมืองปัตตานีได้รับอนุญาตให้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ได้เอง และมีการผลิตเหรียญทองคำเป็นตราประจำเมืองรูปวัวเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ยังผลิตเหรียญพระอาทิตย์มาตาฮารีและเหรียญที่ใช้อักษรอาหรับด้วย

ระหว่าง พ.ศ. 2390 – 2402 ในยุคตื่นทอง  ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตทองคำใหญ่ที่สุดในโลกมีการผลิตทองคำเพิ่มขึ้น 7 – 8 เท่าตัว ขณะเดียวกัน ประเทศสยามก็เริ่มเปิดการค้าเสรีกับชาวต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีทองคำหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับระบบ การค้าเสรีแบบใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาทองคำล้นระบบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำทองคำมาผลิตเป็นเหรียญกษาปณ์ทองคำขึ้นใช้ในประเทศไทย และไม่ประสงค์ให้ทองคำ ในประเทศกลายเป็นทองผสมแบบเหรียญทองของอังกฤษ จึงไม่ผสมทองแดงลงในเหรียญทอง ทำให้ระบบ เงินตราของไทยตั้งแต่สมัยโบราณสัมพันธ์กับน้ำหนักของโลหะมีค่าที่นำมาทำเงินตรานั้น เรียกว่า เงินเต็มค่า

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ การกำหนดราคาทองคำของไทย มาจากธรรมเนียมของชาวเชียงแสนโบราณ ใช้ค่าน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของเนื้อทองเป็นหลัก โดยทองบริสุทธิ์ ไม่มีโลหะเจืออื่นเรียกว่า ทองเนื้อเก้า หรือ นพคุณเก้าน้ำ ความบริสุทธิ์รองลงมาเรียกว่า ทองเนื้อแปด เจ็ด หก ถัดกันลงมาตามลำดับ ทองที่มีเนื้อต่ำ เรียกว่า ทองเนื้อสี่ หมายถึง ซื้อขายกันโดยน้ำหนักทอง 1 บาทเป็นราคาเงิน 4 บาทและเพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 9 บาท เป็นทองเนื้อเก้า ส่วนราคาทองที่ซื้อขายเป็นเศษเกินกว่าบาทขึ้นไป เรียกว่า ขา เช่น ทองเนื้อหกน้ำสองขา หมายถึง ทองโดยน้ำหนัก 1 บาท ขายเป็นราคาเงิน 6 บาท 2 สลึง เป็นต้น

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ มากยิ่งขึ้น และยังคงมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำใช้อยู่ แต่พระองค์ได้เปลี่ยนระบบเงินตราของไทยมาอยู่ในมาตรฐานเนื้อทองคำเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่ไทยติดต่อค้าขายด้วย โดยทรงตราพระราชบัญญัติมาตราทองคำขึ้น เพื่อกำหนดเทียบค่าเงินบาทกับทองคำบริสุทธิ์และตั้งแต่นั้นมา และทองคำก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองเงินตราของประเทศที่ใช้ในการผลิตธนบัตรด้วย