เครื่องนมัสการทองทิศกะไหล่ทอง

11 / 02 / 2564 13:47

วัฒนธรรมการเคารพบูชาของไทยนั้นมีความละเอียดอ่อนและแฝงไปด้วยความหมาย และมีความเป็นอารยธรรมในชนชาติ โดยแสดงออกผ่าน “เครื่องนมัสการ”  ที่แบ่งเป็นเครื่องนมัสการของหลวง และเครื่องนมัสการของราษฎร์ 

เครื่องนมัสการของราษฎร์หรือของบุคคลทั่วไปนั้น  ประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน ซึ่งต่างจากเครื่องนมัสการของหลวง ที่มีการจัดลำดับความสำคัญและรายละเอียดมากกว่า และมีหลายประเภท เช่น เครื่องนมัสการทองใหญ่ เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี เป็นต้น แตละประเภทจะใช้ในงานพระราชพิธีที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้มีเครื่องนมัสการที่ ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี และผู้แทนพระองค์ ทรงจุดนมัสการหรือจุดนมัสการพระพุทธรูป ตามพระอารามและใช้ทอดในการทรงวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุสรณ์ต่าง ๆเรียกว่าเครื่องนมัสการทองทิศกะไหล่ทอง

เครื่องนมัสการทองทิศกะไหล่ทอง ทำด้วยกะไหล่ทองประกอบด้วยเชิงกะไหล่ทอง ๑๐ เชิง สำหรับปักธูปไม้ระกำ ๕ เทียน ๕ และพานกะไหล่ทอง ๑๐ พาน สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก ๕ พุ่มดอกไม้ ๕ ตั้งบนโต๊ะเท้าสิงห์ฉลุลายอย่างจีนลงรักปิดทอง

การกะไหล่ คือกรรมวิธีการเคลือบโลหะด้วย “ทองคำหรือเงิน” โดยการใช้ปรอทมาละลายทองคำหรือเงินให้เป็นของเหลว แล้วทาลงบนโลหะที่ต้องการจะเคลือบ จากนั้นก็ไล่ปรอทออกโดยการใช้ความร้อน จะพบการกะไหล่ในงานต่างๆเช่น พานกะไหล่เงิน พานกะไหล่ทองคำ สร้อยสังวาลกะไหล่ทองคำ เป็นต้น

การกะไหล่ทองคำแตกต่างจากการชุบด้วยทองคำ เพราะการกะไหล่ทองคำจะใช้น้ำหนักทองคำมากกว่า และจะต้องนำทองคำมาผสมกับปรอททำให้ทองคำละลายกลายเป็นของเหลวแล้วจึงนำไปเคลือบบนผิวของโลหะที่จะกะไหล่ ส่วนการชุบทองเป็นการชุบเคลือบผิวโลหะด้วยไฟฟ้า ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีช่างทำงานกะไหล่ทองแล้ว เนื่องจากต้องทำงานกับสารปรอทซึ่งเป็นสารพิษที่ร้ายแรง ถ้าสูดดมมากๆจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย งานกะไหล่ทองที่หลงเหลืออยู่จึงเป็นงานเก่าที่สะสมไว้ นอกจากจะพบในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆแล้ว ยังพบวิธีการทำกระไหล่ทอง อย่างแพร่หลายในวงการพระเครื่อง ร่วมกับการเปียกทอง และการชุบทอง ซึ่งคุ้นเคยกันดีสำหรับนักสะสมพระเครื่องโดยพระเครื่องที่ผ่านกรรมวิธีกะไหล่ทอง จะมีลักษณะผิวทองบางๆ และมักติดไม่ทั่วองค์พระ ส่วนที่ถูกสัมผัสจะเห็นผิวสีขาวจากตะกั่วที่ทาก่อนเป่าแผ่นทองติดลงไป

ข้อมูล : เพจหอสมุดพิกุลศิลปาคาร