มัมมี่ลิ้นทองคำ สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2020

12 / 05 / 2564 16:26

ที่วิหาร "ทาโปไซริส แม็กนา" (Taposiris Magna) ในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ มีการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่ถือเป็นสุดยอดการค้นพบแห่งปี 2020 คือการขุดพบมัมมี่ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 2,000 ปี ที่มีลักษณะพิเศษต่างจากมัมมี่ทั่วไปที่เคยพบก่อนหน้านี้ เพราะมัมมี่ดังกล่าวมีลิ้นที่ทำจากแผ่นทองคำอยู่ในปาก นักโบราณคดีบางกลุ่มเชื่อกันว่า วิหารซึ่งเป็นสถานที่ฝังร่างมัมมี่แห่งนี้อาจเป็นสุสานเดียวกันกับที่ฝังร่างของพระนางคลีโอพัตราที่ 7 อันโด่งดังด้วย

มัมมี่ลิ้นทองคำร่างนี้ฝังอยู่ในช่องเก็บศพซึ่งเจาะเข้าไปในก้อนหินขนาดใหญ่ ร่วมกับมัมมี่อื่น ๆ อีก 15 ร่างที่มีสภาพไม่สมบูรณ์นัก ทีมนักโบราณคดีผู้ค้นพบคาดว่า มัมมี่เหล่านี้เคยมีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ทอเลมี (Ptolemy) ซึ่งวัฒนธรรมกรีก-โรมันได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในอียิปต์ หรืออาจมาจากยุคที่จักรวรรดิโรมันเริ่มเข้ามาปกครองอียิปต์อย่างเต็มตัว

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การประดิษฐ์เครื่องรางขึ้นเป็นรูปลิ้นจากแผ่นทองคำ แล้วนำเข้าไปไว้แทนที่อวัยวะจริงในช่องปากนั้น ทำไปด้วยสาเหตุใดกันแน่ แต่อาจเป็นได้ว่าผู้ตายมีความพิการหรือความผิดปกติทางการพูด จึงจำเป็นต้องมีลิ้นใหม่เพื่อใช้พูดจากับเทพโอไซริส (Osiris) ผู้พิพากษาตัดสินวิญญาณของคนตายในปรโลก

นอกจากมัมมี่ลิ้นทองคำแล้ว ยังพบมัมมี่เพศหญิงที่มีหน้ากากและกล่องบรรจุร่าง ที่ชั้นในของโลง โดยกล่องบรรจุร่างนี้ทำจากปูนปลาสเตอร์ ผ้าลินิน และกาว ปั้นเป็นรูปทรงใบหน้าและลำตัวที่พอดีกับร่างผู้ตาย แล้วประดับตกแต่งด้วยทองคำเปลวเป็นรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมงกุฎ เขาสัตว์ งูเห่า รวมทั้งสร้อยคอที่มีจี้รูปหัวนกเหยี่ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพฮอรัส

ก่อนหน้านี้มีการค้นพบเหรียญเงินจำนวนมากที่วิหารทาโปไซริส แม็กนา ซึ่งเหรียญเหล่านี้สลักชื่อและภาพใบหน้าของพระนางคลีโอพัตราที่ 7 ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอาณาจักรอียิปต์โบราณ อันนับเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ยังมีการใช้งานวิหารแห่งนี้บูชาเทพโอไซริสและเทพีไอซิสในสมัยที่พระนางครองอำนาจอยู่ ทำให้น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นสถานที่ฝังพระศพซึ่งปัจจุบันก็ยังค้นหาไม่พบ

ราชวงศ์ทอเลมีเป็นชาวกรีกที่ปกครองอียิปต์ระหว่างช่วง 304 - 30 ปีก่อนคริสตกาล โดยหลังจากพระนางคลีโอพัตราพ่ายแพ้ต่อกองทัพของจักรพรรดิออกัสตัส ทำให้อียิปต์ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันอย่างสมบูรณ์ในที่สุด

ที่มา : เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก