ธปท.ซื้อทองคำสำรองเพิ่มกว่า 90 ตัน

24 / 08 / 2564 07:50

มีรายงานว่าในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อทองคำสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 90 ตัน มาติดอันดับโลกในปีนี้ เช่นเดียวกับธนาคารกลางของฮังการี ที่ประกาศซื้อทองคำมากถึง 63 ตันในช่วงเวลาเดียวกันทำให้ทองคำสำรองของฮังการีเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 31.5 ตันเป็น 94.5 ตัน

ในขณะที่การซื้อทองคำจำนวน 63.5 ตันของฮังการีถือเป็นการซื้อทองคำล็อตใหญ่ที่สุด ที่สร้างความสนใจให้ตลาดทองคำได้ไม่น้อย การเปิดเผยต่อสาธารณชนถึงการสำรองทองคำเพิ่มขึ้นกว่า 90 ตันของนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะการซื้อทองคำสำรอง 90 ตันของไทย (เพิ่มขึ้น 43.5 ตัน ในเดือนเมษายน และเพิ่มขึ้นอีก 46.5 ตันในเดือนพฤษภาคม) ทำให้ไทยมีทองคำสำรองรวมจาก 154 ตันเป็น 244 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 58.4%

มูลค่าทองคำของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มกราคม  มีทองคำรวมมูลค่า 273,869.68 ล้านบาท
กุมภาพันธ์ มีทองคำรวมมูลค่า 257,649.29 ล้านบาท
มีนาคม มีทองคำรวมมูลค่า 264,808.71 ล้านบาท
เมษายน มีทองคำรวมมูลค่า 350,293.43 ล้านบาท
พฤษภาคม มีทองคำรวมมูลค่า 467,614.67 ล้านบาท
และล่าสุดเดือนมิถุนายน  มีทองคำรวมมูลค่า 445,226.54 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

การซื้อทองคำของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการสะสมทองคำระยะสั้นที่สูงที่สุด นับตั้งแต่โปแลนด์ ซื้อทองคำ 100 ตัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019  สันนิษฐานว่าการซื้อทองคำจำนวนมากของธปท.ในเวลานี้ อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่ฮังการีและโปแลนด์ที่ว่าทองคำ “เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย” และ“ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ปลอดภัยที่สุดในโลก”

ทั้งนี้ธนาคารกลางของโปแลนด์กล่าว ไว้ว่า “ได้ซื้อทองคำเนื่องจากเป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และเป็นจุดยึดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของความตึงเครียดและวิกฤต” และเป็น“การเพิ่มความมั่นคงทางการเงินเชิงกลยุทธ์ของประเทศ ”.

นอกจากนี้เชื่อว่าแรงจูงใจในการซื้อทองคำของธนาคารกลางน่าจะมาจากเหตุผลเหล่านี้
•ป้องกันในช่วงวิกฤต
•เป็นเครื่องเก็บมูลค่าระยะยาว
•เป็นตัวกระจายพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
•ขาดความเสี่ยงในการผิดนัดและความเสี่ยงทางการเมือง
•มีสภาพคล่องสูง
และในขั้นวิกฤต ทองคำคือ “ความคาดหมายของการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินระหว่างประเทศ ”โดยธนาคารกลาง