ผ้าไทยลายทอง

26 / 07 / 2565 00:28

ผ้าโบราณของไทย เป็นอาภรณ์ประดับกายที่มีคุณค่ามากกว่าแค่เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผ้าไทยที่ใช้ในราขสำนักหรือชนชั้นสูง ล้วนแล้วแต่งดงาม ฝีมือการทอประณีต ผลิตจากฝ้ายหรือไหมชั้นดีและมีส่วนผสมของเส้นใยทองคำ เช่น ผ้ากรองทอง ผ้าเขียนทอง ผ้ายกดิ้นทอง เป็นต้น

ผ้ากรองทอง  เป็นผ้าที่ถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทอง ถักให้เป็นลวดลายต่อกันเป็นผืน ส่วนมากนำมาทำเป็นผ้าสไบ ใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบและผ้าสไบอีกทีหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิงชั้นสูง มีขนาดกว้างยาวเท่ากับผ้าสไบ ชายผ้าด้านกว้างปล่อยเป็นชายครุย เมื่อต้องการให้ผ้ากรองทองมีความงดงามเพิ่มมากขึ้น นิยมนำปีกแมลงทับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนรูปใบไม้ และปักลงไปบนผ้ากรองทอง 

ผ้าเขียนทอง เป็นผ้าพิมพ์ลายอย่างดี เน้นลวดลาย เพิ่มความสวยงาม ด้วยการเขียนเส้นทองตามขอบลาย ผ้านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น

ผ้าปักไหม เป็นผ้าที่ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง มีทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม ใช้ห่มทับสไบ ผ้าปูลาด และผ้าห่อเครื่องทรง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดี ปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน การปักไหมนี้ถ้าใช้ไหมสีทองมากก็เรียกว่า “ผ้าปักไหมทอง”

ผ้ายกดิ้นทอง  ปรากฏในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน และในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช และอำเภอพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คำว่า “ยก” มาจากการเรียกกระบวนทอ เวลาทอเส้นด้ายหรือไหมที่เชิดขึ้น เรียกว่า “เส้นยก” เส้นด้ายหรือไหมที่จมลงเรียกว่า “เส้นข่ม” แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลาง ถ้าจะให้เป็นลาย เลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้น ก็เกิดลายยกขึ้น จึงเรียกว่า “ผ้ายก” ไทยเราผลิตผ้ายกได้ดี ทั้งยกไหม และยกดิ้น

นอกจากนี้ยังมีผ้าพื้นเมืองที่ทำจากวัสดุพื้นถิ่น และมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา เช่น ผ้ากาสาเป็นผ้าดิบ
เนื้อหยาบ ไม่ได้ย้อมฝาด มีสีหม่นไม่ขาวทีเดียว คำว่า กาสา (Kassar) เป็นคำมลายู แปลว่า หยา
ผ้าขาวม้าเดิมเรียก “ผ้ากำม้า” เป็นผ้าประจำตัวของผู้ชาย ใช้เป็นทั้งผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเคียนพุง และผ้าพาดไหล่ เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง
ผ้าตามะกล่ำ/ผ้าตาเล็ดงา/ผ้าตาสมุก  เป็นผ้าฝ้าย สีคล้ำมีลายเล็กๆ ใช้เป็นผ้านุ่ง
ผ้าบังปอก ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ ชาวบ้านใช้ โดยเฉพาะผู้หญิงใช้เป็นผ้านุ่ง เป็นต้น