ใครเป็นผู้กำหนดราคา ซื้อ-ขาย ทองคำ

23 / 08 / 2561 10:23

          ราคาทองในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยตัวแปรที่สำคัญ 4 ประการคือ
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
4. Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ

          สมาคมค้าทองทำ จะเป็นผู้กำหนดราคาทองแท่งและทองรูปพรรณในทุกๆเช้าในเวลาประมาณ 9.30-9.50 น.เพื่อให้ร้านค้าทองทั่วประเทศนำไปใช้ในการซื้อ-ขาย โดยปกติจะกำหนดราคาวันละครั้งแต่ก็อาจมีเปลี่ยนแปลงได้หลายครั้งในหนึ่งวันในกรณีที่ตลาดมีความผันผวนหรือมีปัจจัยอื่นๆเข้ามา ซึ่งการประกาศราคานี้จะทำกันเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์เท่านั้น ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง
 
          สำหรับผู้บริโภค การซื้อทองตามราคาขายที่ประกาศดูจะไม่มีปัญหา แต่การขายทองไม่ได้ราคาตามที่ประกาศดูจะเป็นปัญหาคาใจไม่น้อย เพราะบางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราขายทองได้ราคาต่ำกว่าที่ประกาศรับซื้อคืน

          ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า การคิดราคารับซื้อทองคืนมี 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็จะมีหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณการซื้อคืนไว้ค่อนข้างชัดเจน และการซื้อคืนทองรูปพรรณก็จะถูกหักมากกว่าการซื้อคืนทองแท่ง 1.8% ต่อกรัม เช่นราคารับซื้อคืนทองคำแท่งคือบาทละ20,000 บาท ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 19,632.2 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อคืนทองคำแท่งราวสามร้อยกว่าบาท ซึ่งราคานี้จะได้เฉพาะการนำทองไปเพิ่มน้ำหนักหรือเปลี่ยนลาย แต่ถ้าขายเลยก็จะถูกลงกว่านี้

          ในขณะที่สคบ.กำหนดหลักเกณฑ์การซื้อทองรูปพรรณคืนจากลูกค้าโดยให้หักออกได้ไม่เกิน 5% เช่นถ้าซื้อคืนทองรูปพรรณ 1 บาท ก็จะโดนหักราว 1,000 บาท ทั้งนี้เฉพาะทองที่ซื้อจากร้านนั้นเท่านั้น หมายความว่าหากซื้อทองรูปพรรณจากร้านหนึ่งแล้วไปขายอีกร้านหนึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนหักมากกว่า 5% ก็ได้

          ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะร้านทองจะได้กำไรเฉพาะตอนที่ขายทองให้ผู้บริโภคเท่านั้น การที่ร้านทองรับซื้อทองคืนจากลูกค้าไม่ได้ทำกำไรเพราะไม่สามารถเอาทองไปวนขายได้ ต้องนำไปหลอมใหม่ทั้งหมด

          นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมซื้อทองที่ไหนก็ควรไปขายคืนที่นั่น เพราะเราจะโดนหักน้อยกว่าไปขายคืนให้ร้านอื่นนั่นเอง