ขุมทรัพย์ 2000 ปี ใต้ปฐพีเมียนมาร์

25 / 10 / 2565 06:12

ประชาชนหลายหมื่นคนจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลไปยังหมู่บ้านทานจีเหนือ ในอำเภอแวตแลต จังหวัดชเวโบ ภาคสะกายของเมียนมาร์ ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 113 กิโลเมตร เพื่อขุดหากรุสมบัติที่เชื่อกันว่าถูกฝังไว้เป็นจำนวนมาก เพราะมีชาวบ้านขุดเจอข้าวของเครื่องใช้ เครื่องบูชาของคนโบราณจำนวนมากฝังอยู่ใต้ดินไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ตลับทองคำ อัญมณี ลูกปัดโบราณ และหินสี โดยมีพ่อค้า นักสะสมของเก่ามาตั้งเต็นท์คอยรับซื้อหลายราย

ผู้สื่อข่ารายงานว่ามีผู้ขุดพบพระพุทธรูปหยกเนื้อดีที่แกะสลักอย่างประณีตงดงามองค์หนึ่ง นักสะสมของเก่าได้เสนอซื้อในราคาหลายสิบล้านจั๊ต หรือมากกว่า 200,000 บาท(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ล้านจั๊ตประมาณ 20,000 บาท) แต่เจ้าของไม่ยอมขาย โดยให้เหตุผลว่าจะเก็บไว้บูชาเอง นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบพานที่ทำจากทองคำ มีผู้เสนอซื้อที่ราคา 4 ล้านจั๊ต แต่ผู้ที่ขุดพบก็ไม่ยอมขายให้อีกเช่นกัน

พื้นที่ซึ่งชาวเมียนมาร์พากันมาปักหลักขุดค้นหาวัตถุโบราณนี้อยู่ไม่ห่างจากเมืองเก่าหะลิน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มเมืองโบราณของอาณาจักรปยู อาณาจักรเก่าแก่ที่เฟื่องฟูขึ้นในพุทธศตวรรตที่ 4 หรือประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาลต่อเนื่องมาจนถึงคริสศตวรรษที่ 11 ซึ่งนอกจากอาณาจักรหะลินแล้ว กลุ่มเมืองโบราณอีก 2 แห่ง ของอาณาจักรปยู ได้แก่ อาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรเปียะทะโน

กลุ่มเมืองโบราณทั้ง 3 อยู่บริเวณตอนกลางค่อนขึ้นไปทางเหนือของพม่า ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคสะกายในปัจจุบัน และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2557.

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนเหล่านี้จะสามารถขุดค้นพบวัตถุมีค่าได้ทั้งหมด เพราะหลายคนที่ปักหลักอยู่ที่นี่มาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และขุดหลุมลึกลงไปแล้วหลายหลุม แต่ก็ยังไม่พบกับวัตถุที่มีค่าเลยแม้แต่ชิ้นเดียว