ได้เวลาอัญเชิญยอดองค์พระธาตุทองคำ ประดิษฐานบนพระธาตุช่อแฮ

25 / 10 / 2565 06:13

เมื่อปลายปี 2564  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงความเห็นร่วมกันว่าองค์พระธาตุช่อแฮ โบราณสถานคู่บ้านคูเมืองของชาวแพร่นั้น มีการชำรุดแตกกะเทาะ มีรอยปริตามแนวตะเข็บของแผ่นทองจังโก และทองคำเปลวแท้ที่หุ้มองค์พระธาตุบวมพอง บางจุดเกิดร่องรอยเป็นรูเสียหายทำให้น้ำฝนสาดซึมเข้าถึงเนื้อในองค์พระธาตุหากปล่อยทิ้งไว้จะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างองค์พระเจดีย์ในอนาคตจึงควรมีการบูรณะองค์พระธาตุให้กลับมาสวยงามคงทนเหมือนเดิม

ด้วยพลังความศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจของพุทธศาสนิกชน ใช้เวลาเพียง 7 เดือนองค์พระธาตุช่อแฮก็ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยการรื้อทองจังโก และทองคำเปลวแท้ออก แล้วทำการบูรณะหุ้มทองจังโกและทองคำเปลวแท้ใหม่ รวมถึงการเพิ่มทองคำบนยอดฉัตรที่เรียกว่าปลีบัว และเพิ่มทองคำแท้หนัก 8.88 กิโลกรัม ที่ฐานวัชรก้านฉัตรพระธาตุช่อแฮ โดยมีพิธีอัญเชิญยอดองค์พระธาตุไปประดิษฐานเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้รูปยอดพระธาตุทำด้วยทองคำแท้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนล่าง เรียกว่า วัชระมงคล ฐานเชิงบัว มีส่วนเดียว ส่วนปลียอดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ศิลปะล้านนา ผสมพม่า ซึ่งส่วนล่างใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดับด้วยลายฉลุรูปเสือ ที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์พระธาตุช่อแฮ พร้อมพระพุทธรูปทองคำประทับนั่งบนเสืออีก 8 องค์ ส่วนด้านบน ที่เป็นส่วนบัวหงาย ประดับด้วยอัญมณีต่างๆทั้ง เพชร พลอย เพทาย ทับทิม

ที่ผ่านมามีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮมาแล้วหลายครั้ง ครั้งใหญ่มี 2 ครั้งคือในปี พ.ศ. 2467 โดยพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย และในครั้งนี้เริ่มบูรณะเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 โดยพระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ คณะสยามบวรและพุทธศาสนิกชน บูรณะองค์พระธาตุ ด้วยงบประมาณ 36 ล้านบาท 

พระธาตุช่อแฮ โบราณสถานอายุกว่าพันปี เจดีย์สีทองอร่ามทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบ ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเกศาธาตุ และพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า