ผลกระทบเชิงบวกต่อไทยหลังยูเออียกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องประดับทองจากอินเดีย
31 / 10 / 2565 09:45
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ทำให้อินเดียส่งออกเครื่องประดับทองไปยังยูเออีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมเพิ่มสูงขึ้นถึง 72% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วยมูลค่า1,048 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายนหรือเพิ่มขึ้น 68%
การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียและยูเออีนี้ ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าไปยังตลาดยูเออี ในขณะที่ประเทศอื่นๆรวมถึงไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 ส่งผลให้อินเดียส่งออกเครื่องประดับทองไปยังยูเออีได้เพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนที่ถูกลง
อย่างไรก็ดีการที่อินเดียสามารถส่งออกเครื่องประดับทองไปยังยูเออีเพิ่มขึ้นก็เป็นผลดีต่อไทยด้วย เพราะ อินเดียก็เป็นคู่ค้าหลักของไทย จึงทำให้ไทยสามารถส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบไปยังอินเดียเพื่อนำไปแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าเพื่อส่งออกต่อไปยังยูเออีและตลาดต่างๆ ในตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบันยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน ก่อนการแพร่ระบาดโควิดในปี 2562 การค้าระหว่างอินเดียและยูเออีมีมูลค่า 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากพิจารณาเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ พบว่ายูเออีเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 2 ของอินเดียรองจากฮ่องกง ด้วยมูลค่าส่งออก 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 26 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียโดยรวมโดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 67 เป็นเครื่องประดับทอง
ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)