หอเครื่องทองไทย

24 / 08 / 2561 16:52

          หอเครื่องทองไทย แหล่งเรียนรู้เรื่องราวของทองไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำทอง กรรมวิธีการทำทอง การผลิตเครื่องทองโบราณ เครื่องทองหลวง และสกุลช่างทองของไทย  จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ บนพื้นที่ขนาด 460 ตารางเมตร แบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วน ๆได้แก่ 

           ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับทอง แสดงต้นกำเนิดทองคำ ตั้งแต่เป็นสายแร่นำมาแยกออกด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลอมออกมาเป็นก้อนทองคำซึ่งป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องทอง 

           ส่วนประวัติช่างทองไทย ซึ่งปัจจุบันเหลือสกุลช่างทองอยู่เพียง 3 สกุล ที่สามารถนำมาจัดแสดงได้คือ สกุลช่างทองสุโขทัย สกุลช่างทองเมืองเพชร และสกุลช่างทองถมนคร 
สกุลช่างทองสุโขทัย  เป็นเครื่องทองที่ทำจากทองคำบริสุทธิ์ 99.99%  โดดเด่นที่ลวดลายสวยงามและกรรมวิธีการผลิตที่เรียกว่า สร้อยถัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสกุลช่างทองสุโขทัย  

           สกุลช่างทองเมืองเพชร เป็นการสืบทอดทักษะเชิงช่างจากสมัยอยุธยา โดยพัฒนาต่อยอดจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลวดลายที่ได้รับความนิยมอย่างเช่น ลายดอกพิกุล ดอกมะลิ ก้านบัว ส่วนใหญ่นิยมทำเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ตุ้มหู 


           สกุลช่างถมนคร เป็นสกุลช่างทองจากนครศรีธรรมราช ผลิตเครื่องถมทองและเงิน โดยเฉพาะ เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ หรือผลิตเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแด่กษัตริย์ต่างชาติ ที่เรียกว่าเครื่อง "ถมทอง" ก็คือเครื่องถมเงิน แต่ใช้น้ำปรอทที่มีทองคำเคลือบบนลวดลายทั้งหมด นิยมใช้ทำภาชนะหรือเครื่องประดับที่มีลายทองบนพื้นสีดำ  

           ส่วนสาธิตกรรมวิธีการผลิต แสดงให้เห็นขั้นตอนการหลอมทองคำเป็นวัตถุดิบ จนกระทั่งผลิตขึ้นเป็นชิ้นงาน พร้อมจัดแสดงเครื่องมือใช้ในการทำทอง เช่น แป้นชักลวด ที่ใช้ผลิตเส้นทองให้มีความหนาและยาวให้ได้ตามต้องการ เครื่องเป่าแล่น เป็นเครื่องให้ความร้อนเพื่อทำให้ทองอ่อนตัวและง่ายต่อการขึ้นรูป  และการทำลวดลายต่างๆ

           ส่วนจัดแสดงชิ้นงานจากฝีมือช่างสกุลต่างๆ ที่ทำจากทองคำแท้ทั้งหมด เป็นลวดลายและรูปแบบที่หาชมไม่ได้ตามร้านทองทั่วไป เช่นกำไลประดับพลอยนพเก้า แหวนลูกไม้ประดับรัตนชาติ 3 สี กระดุม หรือ ดอกบัวสัตตบงกช  หวนแลกำไลพิรอด เป็นแหวนเครื่องราง เชื่อกันว่าทำให้แคล้วคลาดจากโชคร้าย  และปะวะหล่ำ ซึ่งเป็นงานเครื่องประดับทองที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีนรูปร่างคล้าย โคมไฟสัญลักษณ์ แห่งความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง สว่างไสว ปะวะหล่ำนี้อาจยังพอหาชมได้ตามร้านทองทั่วไป
ถ้าสนใจเรื่องราวของทองคำในประเทศไทยไปชมได้ที่บนชั้น 2 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/