เครื่องราชูปโภคทองคำ

29 / 08 / 2561 10:48

เครื่องบรรณาการแด่จักรดิพรรดินโปเลียน

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  มีพระราชประสงค์ในการเปิดประเทศสู่ความทันสมัยและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ในสมัยนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ส่งคณะราชทูตสยามชุดหนึ่งไปเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2400 และอีกคณะหนึ่งไปเจริญพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. 2404 

          ในการไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ส่งเครื่องราชูปโภคทองคำ เป็นเครื่องบรรณาการถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ซึ่งนอกจากเป็นการเชื่อมความสัมพันธไมตรีแล้ว ยังแฝงด้วยกุศโลบายของพระองค์ที่ทรงต้องการแสดงให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเห็นถึงความเป็นอารยประเทศของสยาม ผ่านงานช่างฝีมืออันวิจิตรงดงาม  ละเอียดอ่อนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของสยามประเทศ 
       
          เครื่องราชูปโภคทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการนั้น ส่วนใหญ่ทำด้วยวัสดุมีค่า ตกแต่งด้วยการลงยาสีที่งดงามและ มีความประณีตด้วยฝีมือช่างทองหลวงมีลักษณะทางศิลปกรรมแบบเดียวกันกับเครื่องราชูปโภคทองคำที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ได้แก่ พานกลีบบัวปากแฉกทองคำลงยา  ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา  พานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา  กล่องหรือหีบหมากทองคำลงยา พระสุพรรณศรีทองคำลงยามีลักษณะเป็นกระโถนทรงปลี ขนาดเล็ก พระเต้าหรือคนโททองคำลงยาเป็นภาชนะใส่น้ำเย็น มังสีทองคำลงยาเป็นภาชนะสำหรับรองพระมหาสังข์ ตลับทรงรีทองคำลงยา ถาดทองคำลายสลัก จุ๋นทองคำลายสลักหรือภาชนะสำหรับรองถ้วยชา

          เครื่องราชูปโภคทองคำในเครื่องมงคลราชบรรณาการนี้มีเทคนิคหลักที่ใช้ในการสร้างเช่นเดียวกับการทำเครื่องราชูปโภคทองคำ ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ชั้นสูงของสยาม ทั้งเทคนิคการสร้างหรือการขึ้นรูปด้วยการตีแผ่นทองคำ การหลอม การแผ่ การรีด  และเทคนิคการตกแต่งลวดลายด้วยการดุลลาย สลักลายดุนนูน สลักร่องลายลงยาหรือการเหยียบลายเป็นต้น

          เทคนิคและวิธีการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำ  นี้สะท้อน ให้เห็นงานช่างฝีมือไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/