กรุทอง วัดมหาธาตุและ วัดราชบูรณะ

29 / 08 / 2561 10:49

          เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทองคำมากมายสูญหายไปพร้อมกับการเสียกรุง ทั้งทองที่ประดับประดาอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ และเครื่องทองชิ้นสำคัญๆอีกมาก จนกระเมื่อ พ.ศ.2499 และ พ.ศ. 2500  เกิดปรากฏการณ์“กรุแตก” ขึ้นที่ วัดมหาธาตุและ วัดราชบูรณะ หลังจากนั้นคนไทยและชาวโลกจึงได้มีโอกาสชื่นชมฝีมือช่างทองชั้นสูงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นอีกครั้งหนึ่ง

          วัดมหาธาตุ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.1913-1931) กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงแตกวัดมหาธาตุถูกทำลายเสียหายไปมาก ยกเว้นองค์ปรางค์ประธานที่ไม่ได้ผลกระทบใดๆและยังอยู่ต่อมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จนเมื่อปีพ.ศ. 2455 ในสมัยรัชกาลที่  6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์องค์พระปรางค์ได้ถล่มลงมาจนเหลือเพียงส่วนล่าง และส่วนฐานเท่านั้น
             
          วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่เคียงข้างกันกับวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา พ.ศ. 1967-1991) ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967  ทั้งสองวัดเป็นสำคัญและสร้างอยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน แต่ปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะไม่ถูกทำลายและยังคงสภาพอยู่จนถึงทุกวันนี้

          เหตุการณ์ “กรุแตก”  เกิดขึ้นเมื่อกรมศิลปากร ทำการบูรณะวัด โดยพบสิ่งของมีค่ามากมายอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ห้องบรรจุพระบรมธาตุ” ซ่อนอยู่ภายในปรางค์ประธานของทั้งสองวัด ทั้งนี้คนไทยมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่เรียกว่าการ “ประจุพระ” คือเมื่อก่อสร้างพระธาตุเจดีย์สำเร็จแล้วจะมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและของมีค่าอื่นๆเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่นพระพุทธรูปทำด้วยเงินและทอง เครื่องราชูปโภคจำลอง ต้นไม้เงินทอง พระพิมพ์ แผ่นลานทอง เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาอุทิศถวายร่วมด้วยอีกเป็นจำนวนมาก  เป็นการร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นบุญใหญ่

          ดังนั้น กรุที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจึงมิได้มีเพียงสิ่งอันควรเคารพบูชาเท่านั้น แต่ได้กลายเป็น“กรุมหาสมบัติ” ไปด้วย ซึ่งสิ่งของมีค่าที่พบในกรุวัดราชบูรณะมีจำนวนมากกว่าที่พบในกรุวัดมหาธาตุ

          เครื่องทองที่พบเป็นเครื่องราชูปโภคชิ้นเอกหลายชิ้น ได้แก่ จุลมงกุฎ (ใช้ครอบพระมาลีของเจ้านายผู้ชาย) พระแสงดาบฝักทองคำฝังอัญมณี ด้ามเป็นแก้วผลึกและทองคำประดับอัญมณี  กรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ ปั้นเหน่ง สร้อยพระศอ และที่พระมาลา หรือคอบพระเกศาของเจ้านายสตรี ซึ่งทำด้วยเส้นทอง ถักเป็นตาข่ายโปร่ง มีลวดลายดอกไม้และเว้าเป็นช่องโค้งเพื่อรับกับมวยผมแบบรวบต่ำ เครื่องราชูปโภคเหล่านี้มีลวดลายและเทคนิคการทำแบบสมัยอยุธยาตอนต้น
         
          เครื่องทองเหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้ ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่ห้องเครื่องทองและห้องพระบรมสารีริกธาตุชั้นบนของอาคารหนึ่ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/