เครื่องทองลงยา/ลงยาราชาวดี

06 / 09 / 2561 08:52

การลงยา เป็นการเพิ่มสีสัน ความสวยงามให้กับเครื่องประดับ ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๒๕ อธิบายไว้ว่า การลงยามีในหลายประเทศและมีอยู่หลายแบบ ประเทศไทยนิยมในแบบที่เรียกว่า กลัวซอนเน (cloisonné) หรือที่จีนเรียกว่า ฟาลัง (fa-lang)  ซึ่งนิยมกันมาตั้งแต่อียิปต์ กรีก เปอร์เซีย โรมัน และตะวันออกกลาง  ตลอดจนประเทศในเอเชียด้วย 

ลงยา คือ การแต้มสีหรือน้ำยาลงในร่องลายของภาชนะ อาวุธ หรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะแทนการฝังอัญมณี เดิมใช้เฉพาะสีแดง เขียว ต่อมามีสีเพิ่มคือ แดง เขียว น้ำเงิน และฟ้า เครื่องใช้ที่ลงยามีชื่อเรียกต่างๆกัน

ชองเปลอเว เป็นเครื่องโลหะลงยา นิยมกันมากในยุโรปยุคกลาง โดยใช้วิธีทุบแผ่นพื้นโลหะให้เป็นร่องบุบลงไป หยอดน้ำยาสีต่างๆลงในร่องเหล่านั้น ตามลวดลาย แล้วนำไปอบ งานช่างไทยที่มีลักษณะคล้ายกันนี้เรียกว่า "เครื่องถมปัด" พบได้ที่ซุ้มประตูหน้าต่างปราสาทพระเทพบิดร

กลัวซอนเน เป็นการใช้เส้นทองหรือทองแดงเดินลายพื้นโลหะแทนการทุบพื้นโลหะให้บุบ นิยมใช้กันในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์ แล้วแพร่เข้ามาที่จีนทำกันอย่างแพร่หลายที่กวางตุ้ง เรียกว่า"เครื่องลงยาแบบกวางตุ้ง" หรือ ฟาลัง  เป็นที่รู้จักกันดีในสมัยอยุธยาเพราะไทยเป็นลูกค้าสำคัญของจีนเรียกว่า "เครื่องลงยาสี"

กราบิแวร์ เป็นของอาหรับและตะวันออกกลางใช้วิธีเดียวกับชองเปลอเว แต่ทำบนเครื่องปั้นเผาที่กดผิวให้ต่ำเป็นตอนๆ ตามลวดลายหรือรูปที่ร่างไว้ก่อน แล้วจึงลงน้ำยาและนำไปอบอุณหภูมิต่ำ ลักษณะคล้ายกันนี้ไทยเรียก"เครื่องปังเคย" หรือ "เครื่องถ้วยเบญจรงค์" นั่นเอง

สำหรับกรรมวิธีการลงยาสีของไทยนั้น ชาวเปอร์เซียคงเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงนิยมอยู่ในหมู่ข้าราชการและราชสำนัก และคงไม่มีสีมากเท่าปัจจุบันเพราะปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดปรานลงยาสีชนิดที่เรียกว่าราชาวดี โดยเป็นสีฟ้าสีเดียว  ดังนั้น เครื่องราชูปโภคหลายชิ้นจึงลงยาราชาวดี  ซึ่งตัวยาสีนี้คือแก้วสีที่หลอมละลายกับแร่ธาตุที่มีสีต่าง ๆ ได้เป็นสีใสตามเนื้อแก้ว ถ้าต้องการให้ขุ่นจะผสมออกไซด์ของดีบุกหรือพลวง


งานลงยาสีฟ้าหรือ"ลงยาราชาวดี" ส่วนมากจะเป็นของเจ้านายชั้นสูง หากไม่มีสีฟ้าในชิ้นงานจะเรียกว่า "ทองลงยา"

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4การทำเครื่องลงยามีความรุ่งเรืองมาก  เครื่องราชูปโภคและราโชปโภค รวมทั้งเครื่องประกอบยศของเจ้านายตลอดจนขุนนางต่างๆ รวมถึงเครื่องประกอบสมณศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ ล้วนเป็นเครื่องลงยาราชาวดีแทบทั้งสิ้น


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/