ย้อนประวัติศาสตร์ 147 ปี การทำเหมืองแร่ทองทำ

06 / 09 / 2561 08:57

ประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4  ช่วงแรกนิยมทำเหมืองดีบุก ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ ร.ศ. 120  การทำเหมืองก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการทำเหมืองแร่กว่า 40 ชนิด แต่มีแร่เศรษฐกิจที่สำคัญอยู่เพียง 10 ชนิดเท่านั้นคือ  ถ่านหิน ยิปซัม หินอุตสาหกรรม เฟลด์สปาร์ สังกะสี โดโลไมต์ ดีบุก ทรายแก้ว เกลือหินและโพแทซ และทองคำ

เหมืองทองคำเริ่มทำครั้งแรกในปี พ.ศ. 2414 แต่ทำได้ไม่นานก็ปิดกิจการไป และกลับมาทำกันอีกครั้ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีบันทึกว่ามีชาวอิตาเลี่ยนมาขอขุดทองที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสามารถขุดพบได้จำนวนเท่าใด ต่อมาก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสยามได้ให้สัมปทานแก่บริษัทจากอังกฤษและฝรั่งเศส ทำการสำรวจและทำเหมืองแร่จากแหล่งแร่ทองคำหลายแห่ง เช่น แหล่งโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  แหล่งกบินบุรี จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น

มีการบันทึกไว้ว่า บริษัท Societe des Mine d’Or de Litcho ของฝรั่งเศสซึ่งทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส ได้ทองคำหนักถึง 1,851.44 กิโลกรัมเลยทีเดียว ในขณะที่กรมโลหะกิจ หรือกรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน ได้ทำเหมืองทองคำที่แหล่งบ้านบ่อ จ.ปราจีนบุรี ระหว่างปีพ.ศ. 2479-2483 ได้ทองคำถึง 54.62 กิโลกรัม

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำที่ได้รับประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้ขุดแร่ได้มีทั้งหมด 33 แปลง จากประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งหมดกว่า 1,500 แปลง  ทองคำที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกเกือบทั้งหมด ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลก โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกทองคำรวม 2,860,219 กรัม มูลค่า 4,425.4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2555 ผลิตได้ 4,895,021 กรัม มูลค่า 8,119.9 ล้านบาท

ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำไม่ถึงร้อยละ 1 ของแร่ทั้งประเทศ แต่ราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ดึงความสนใจให้นักลงทุนหันมาขุดทองกันมากขึ้นแต่ การทำเหมืองแร่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการลงทุนค่อนข้างมาก และอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้การทำเหมืองแร่ในประเทศไทยยังคงมีข้อจำกัดอยู่ในเวลานี้


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/