ความหมาย บนลวดลายทองรูปพรรณ

27 / 09 / 2561 12:14

การออกแบบลวดลายเครื่องทองรูปพรรณของคนไทยนั้น มักประยุกต์ ดัดแปลง เลียนแบบมาจากธรรมชาติ ของใช้ในชีวิตประจำวัน และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งนอกจากมีความประณีตละเอียดอ่อนสวยงามแล้ว ยังแฝงไปด้วยความหมายและความเป็นสิริมงคลสำหรับผู้สวมใส่ 

ลวดลายที่เลียนแบบมาจากธรรมชาติ เช่น ลายเม็ดมะยม ลายหยดน้ำ ลายไข่ปลา กลุ่มลวดลายที่เลียนแบบจากดอกไม้และต้นไม้ เช่น ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น ลวดลายกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการลงยา ซึ่งเป็นศิลปะการทำเครื่องทองที่นิยมกันในสมัยอยุธยาแทนการประดับด้วยเพชรพลอย กลุ่มลวดลายสิงสาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นาค หงส์ กลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายสุ่ม ลายลูกตะกร้อ ลายตะกรุด ลายมัดหมี่ ลายเม็กกระดุม ลายปะวะหล่ำ เป็นต้น

นอกจากความสวยงามแล้ว ความหมายอันเป็นมงคลของลวดลายต่างๆก็ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกดีด้วยเช่นลายปะวะหล่ำ เครื่องประดับทองของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน เพราะนำรูปแบบมาจากโคมไฟของจีน ตามความเชื่อที่ว่าโคมไฟแสดงถึงความสว่างไสว เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและความร่ำรวย การใส่เครื่องทองที่มีลวดลายปะวะหล่ำจึงมีความหมายอันเป็นมงคลให้กับผู้สวมใส่ด้วย

ส่วนของการทำปะวะหล่ำนั้น ในอดีตจะใช้วิธีการดัดเกลียวลวดทองและนำมาเดินเป็นลวดลาย ต่อมามีการประยุกต์ด้วยการฝังอัญมณีลงไป ปะวะหล่ำที่ตกแต่งด้วยอัญมณีนี้เรียกว่า “ปะวะหล่ำทรงเครื่อง”

ดอกบัว เป็นอีกลายที่นิยมนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับทองด้วยมีความหมายที่เป็นสิริมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสุข ความเบิกบาน เพราะดอกบัวเปรียบเสมือนผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าเส้นใยของบัวช่วยทำให้เกิดความห่วงใยความผูกพันของคนในครอบครัว ลายบัวที่ได้รับความนิยมเช่นสัตตบงกชหรือบัวฉัตรชมพู เป็นต้น

เครื่องประดับลายดอกพิกุล คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่าต้นพิกุล เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนของพระอินทร์ ดอกพิกุลจึงเปรียบเสมือนดอกไม้จากสวรรค์ การประกอบพระราชพิธีต่างๆจึงนิยมทำดอกพิกุลเงินและพิกุลทอง สำหรับการประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรง เป็นต้น พิกุลจึงมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง หากมีไว้กับตัวจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตนั่นเอง  


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/