
อุปสงค์-อุปทานของทองคำ
27 / 09 / 2561 12:20
อุปสงค์ของทองคำ(Gold Demand)คือความต้องการใช้ทองคำในตลาดโลกและอุปทานของทองคำ(Gold Supply) คือปริมาณทองคำในตลาดที่ผลิตได้ ซึ่ง Demandและ Supply ของทองคำทั่วโลกมาจากหลายกลุ่ม
อุปสงค์มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ, ภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และภาคการลงทุน
1) ภาคเครื่องประดับ ถือเป็นผู้บริโภคทองคำกลุ่มหลักคิดเป็นประมาณร้อยละ 68 ของอุปสงค์ทองคำทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและเอเชีย โดยเฉพาะอินเดียและจีน คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่าร้อยละ 60 ของการใช้เครื่องประดับทองคำของโลก
2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ มีการใช้ทองคำเพิ่มขึ้นตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่าน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของอุปสงค์ทั้งหมด และเชื่อว่าประมาณความต้องการทองคำในภาคนี้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต
3) ภาคการลงทุน ในอดีตหมายถึงการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำ แต่ปัจจุบันรวมถึง การลงทุนแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กองทุนรวม จนถึงการลงทุนต่างๆ ที่มีทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ในส่วนของอุปทานทองคำ (Gold Supply)ปริมาณทองคำในตลาดมาจาก 4 กลุ่มหลักคือ ผลผลิตจากเหมืองแร่ เศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ การขายจากหน่วยงานภาครัฐ และการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต
1) ผลผลิตจากเหมืองแร่ ปัจจุบันผลผลิตทองคำจากเหมืองแร่เป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปทานของทองคำมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณทองคำในตลาดแต่ละปี ทั้งนี้แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการผลิตทองคำออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก รองลงมาคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย กลุ่มลาตินอเมริกา จีน รัสเซีย เปรู ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งตั้งแต่ปี1990 เหมืองทองทั่วโลกมีผลผลิตทองคำรวมกันทั้งหมดประมาณ 2,500 ตันต่อปี
2) เศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ เป็นทองคำจากผลิตภัณฑ์เก่าที่ถูกแปรรูปแล้วและนำมาสกัดใหม่ในรูปทองคำแท่ง มีบทบาทสำคัญต่อกลไกราคาทองคำ รองจากผลผลิตจากเหมืองแร่ และทำให้ราคาทองคำมีเสถียรภาพมากขึ้น
3) การขายทองคำจากหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF ถือครองทองคำในรูปของเงินทุนสำรองรวมกันประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณทองคำทั้งหมดที่มีในโลก ธนาคารกลางของประเทศต่างๆจะถือครองทองคำประมาณร้อยละ 10 ของทุนสำรองของประเทศโดยเฉลี่ย ซึ่งธนาคารกลางยังอาจทำการขายทองคำออกสู่ตลาดได้ (ภายใต้เงื่อนไขไม่เกิน 500 ตันต่อปี)
4) การขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต เมื่อบริษัทเหมืองทองทำการขายทองล่วงหน้า คู่ค้าจะทำธุรกรรมยืมทองคำจำนวนเดียวกันจากผู้ครอบครองทองรายอื่นเช่นธนาคารกลางในปริมาณที่เท่ากันไปขายเพื่อนำเงินที่ไปลงทุนอื่นๆเมื่อถึงกำหนดส่งมอบทองคำตามสัญญา บริษัทเหมืองทองจะส่งมอบทองคำให้กับคู่ค้าในราคาตามที่ตกลงกันไว้ ทางคู่ค้าก็จะนำทองคำที่รับมอบมาส่งคืนให้กับผู้ที่ให้ยืมมาพร้อมค่าธรรมเนียมการกู้ยืม
เหล่านี้คืออุปสงค์-อุปทานของทองคำ ที่มีผลต่อราคาและความต้องการทองคำในตลาดโลก
เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/