ธุรกิจร้านทองของไทย

01 / 10 / 2561 16:55

ในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทองคำ 4 ประเภทคือ ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และ ผู้ผลิตทองรูปพรรณ 

ทองคำที่บริโภคในประเทศส่วนใหญ่นำเข้าโดยผู้นำเข้าจากต่างประเทศที่มีอยู่ 10 ราย โดยนำเข้ามาเป็นทองแท่ง และจำหน่ายต่อให้กับผู้ค้าส่งที่มีอยู่ 35 ราย จากนั้นผู้ค้าส่งก็จะนำทองแท่งบางส่วนมาแปรรูปเป็นทองรูปพรรณ เช่น สร้อยคอ กำไร แหวน เป็นต้น โดยว่าจ้างบริษัทหรือผู้ผลิตทองรูปพรรณ จากนั้นผู้ค้าส่งก็จะขายทองคำแท่งและทองรูปพรรณต่อไปยังผู้ค้าปลีกซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการร้านค้าทองคำรายใหญ่ เช่นร้านทองในย่านเยาวราช และผู้ประกอบการร้านทองรายย่อย ร้านทองรายเล็ก และร้านตู้แดง ที่เรียกว่า ผู้ค้าปลีกที่มีอยู่ราว 7,500 รายทั่วประเทศ
         
ประเภทสินค้าที่ขายกันในระบบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทองคำแท่ง และทองรูปพรรณ
          ทองคำแท่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทองคำแท่ง 99.99% และทองคำแท่ง 96.5% โดยทองคำส่วนใหญ่ที่นิยมในประเทศไทยจะเป็นทองคำแท่ง 96.5%
ทองรูปพรรณ เป็นทองคำที่ทำสำเร็จใช้เป็นเครื่องประดับ แบ่งความบริสุทธิ์ของเนื้อทองออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับทองคำแท่ง ซึ่งทองรูปพรรณ 96.50% ได้รับความนิยมมากกว่าทอง 99.99%

เมื่อปี พ.ศ. 2559 กรมสรรพากรมีนโยบายโน้มน้าวให้ร้านค้าทองคำโอนกิจการจากบุคคลธรรมดาไปเป็นนิติบุคคล โดยการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านทองทั่วประเทศที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ให้จดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2559 มีร้านทอง จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  4,454 ราย แยกเป็น กทม. 1,853 ราย ทุนจดทะเบียน 42,813 ล้านบาท ภูมิภาค 2,601 ราย ทุนจดทะเบียน 11,143 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ประกอบการร้านทองที่เป็นนิติบุคคลจะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคล
ธรรมดาหลายด้านเช่น       
1.ฐานภาษี กรณีเป็นบุคคลธรรมดาเสียภาษีจากฐานเงินได้พึงประเมินสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งจะเสียภาษีต่อเมื่อมีกำไรสุทธิทางภาษีเท่านั้น หากขาดทุนสุทธิก็ไม่ต้องเสียภาษี         
2.อัตราภาษี กรณีบุคคลธรรมดาเสียภาษีตามขั้นบันไดตามเงินได้สุทธิตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 แต่นิติบุคคลเสียภาษีจากกำไรสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลทั่วไปเสียภาษีทั้งจำนวนในอัตราร้อยละ 20 ส่วนนิติบุคคลที่เป็น SMEs มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทได้รับยกเว้นภาษี หากมีกำไรสุทธิเกิน 300,000 บาทขึ้นไปเสียภาษีร้อยละ 10
       3.การจัดทำบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชี
       - กรณีบุคคลธรรมดา ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้ขาดข้อมูลทางบัญชีในเชิงการบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจ และมีความเสี่ยงตามกฎหมายของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเหลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย
       - กรณีนิติบุคคล ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้มีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรม ไม่มีความเสี่ยงตามกฎหมายสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีที่ เป็นต้น
     
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมียอดขายทองคำเฉลี่ย 400,000-500,000 ล้านบาทต่อปี แต่มีการเสียภาษีจริงจากยอดขายเพียง 200,000 ล้านบาทเท่านั้น เชื่อว่าภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บภาษีใหม่จะส่งผลให้ GDP ประเทศดีขึ้น และกระบวนการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีจะมีความชัดเจนมากขึ้น และเชื่อว่าหากร้านค้าทองคำเข้าสู่ระบบชำระภาษีถูกต้องก็จะทำให้เสียภาษีลดลงกว่าที่เคยเสียอยู่ในแบบเดิมด้วย


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/