เทคโนโยลีใหม่ในการทำเหมืองทองคำ

17 / 10 / 2561 09:31

การทำเหมืองทองคำในยุคปัจจุบัน การแข่งขันไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้แย่งชิงแหล่งแร่ทองคำเหมือนในอดีต แต่คือการแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถขุดทองคำขึ้นมาจากพื้นดินได้เร็วและถูกที่สุด ใครทำได้คือผู้ชนะ

กระบวนการทำเหมืองทองทั่วๆไปการนำแร่ออกมาจากพื้นดิน จะทำได้สองแบบคือการทำเหมืองเปิดคือการเปิดหน้าดินที่คลุมแร่ออก และการทำเหมืองใต้ดิน คือการขุดอุโมงค์ลึกลงไปในดินแล้วทยอยขนดิน หิน แร่ ขึ้นมาจากพื้นดิน จากนั้นจึงส่งเข้าสู่กระบวนการแยกแร่ เพื่อแยกหินและแร่อื่นๆออกด้วยการบดให้มีขนาดเล็กลงแล้วนำไปคัดแยกทองออกด้วยกระบวนการทางเคมีเพื่อให้ได้แร่ทองคำ ซึ่งก่อนที่ทองเหล่านี้จะถูกทำให้บริสุทธิ์ต้องขนถ่ายไปสู่กระบวนการแยกแร่ด้วยไฟฟ้าซึ่งโรงงานอยู่ห่างออกไปหลายร้อยไมล์ เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ใช้กันทั่วโลกและเป็นกระบวนการผลิตที่สร้างสิ่งสกปรกเหลือใช้ถึง 75% ของทองคำ

นักวิทยาศาสตร์ชาวแอฟริกาใต้ของบริษัทฮาร์โมนี โกลด์ จำกัด ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของแอฟริกาใต้ ได้พัฒนากระบวนการทางเคมีเพื่อให้สามารถผลิตทองคำได้ครบทุกขั้นตอนภายในเหมือง ตั้งแต่การดึงแร่ออกจากพื้นดิน การทำแร่ทองให้บริสุทธิ์จนถึงการผลิตเป็นทองคำแท่ง ซึ่งเหมืองทองคำของฮาร์โมนีโกลด์ถือเป็นเหมืองทองคำแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้
 
ขั้นตอนการผลิตทองคำด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้เริ่มจากการนำทองคำที่ได้จาการแยกแร่ซึ่งเป็นทองที่ยังไม่บริสุทธิ์ มาทำละลายด้วยสารละลายที่ผสมระหว่างกรดไนตริกและกรดไฮโดรคลอริก จากนั้นจึงผสมลงในพาราฟิน เพื่อทำให้ทองคำแยกชั้นออกจากสิ่งเจือปน จากนั้นพาราฟินถูกนำไปผสมกับน้ำบริสุทธิ์ ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนได้ผงทองคำบริสุทธิ์ในที่สุด ทองคำบริสุทธิ์ 99.99% นี้จะถูกนำไปหลอมละลาย เทลงแม่พิมเพื่อทำเป็นทองคำแท่งต่อไป

กระบวนการนี้ถูกกว่าและเร็วกว่าวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบัน  อีกทั้งคนงานเหมืองก็มีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ผลดีที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งคือ มีการสร้างงานใหม่มากขึ้น มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นจากการผลิตเครื่องประดับทองคำเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ทองคำสามารถผลิตได้ในเหมือง ทำให้พวกเขาสามารถสร้างโรงงานผลิตเครื่องประดับได้ในบริเวณใกล้ๆกัน
 
บริษัทฮาร์โมนีโกลด์ ดำเนินธุรกิจในแอฟริกาใต้และปาปัวนิวกีนี  มีเหมืองทองคำใต้ดิน  9  เหมือง และเหมืองเปิดอีกหลายแห่งในแอฟริกาใต้ และปาปัวนิวกีนี  ปี 2017 สามารถผลิตทองคำได้ 1.18 ล้านออนซ์ และจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปี 2018 การผลิตทองคำของบริษัทฮาร์โมนีโกล์ดอยู่ที่ 1.228 ล้านออนซ์ และตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตทองคำได้เกินเป้าหมายการผลิตประจำปีประมาณ 4% เมื่อถึงสิ้นปี


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/