ยุคตื่นทองของโลก

31 / 10 / 2561 16:18

ไม่น่าเชื่อว่า การพบแร่ทองคำที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ตื่นทองหรือgold rush นั้น จะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันแม้จะอยู่ห่างกันคนละมุมโลกก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดาและแอฟริกาใต้

ที่สหรัฐอเมริกา วันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1848 นายเจมส์ ดับบลิว มาร์แชลล์ นักบุกเบิกชาวอเมริกันได้พบแร่ทองคำจำนวนมากในธารน้ำข้างโรงเลื่อยที่หุบเขา โคโลมา บริเวณ South Fork ของแม่น้ำ American ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Sacramento ขณะรับจ้างสร้างโรงเลื่อยให้ Augustus Sutter ซึ่งอพยพจากสวิตเซอร์แลนด์มาทำไร่ในที่ดินผืนนี้ตั้งแต่แคลิฟอร์เนียยังเป็น ของเม็กซิโก  ข่าวการค้นพบทองคำของเขาแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ชักนำผู้คนคนนับพันให้พากันมาที่โรงเลื่อยพร้อมกับอุปกรณ์ขุดหาทองคำ จนในปี ค.ศ. 1853 มีผู้ตื่นทองเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 300,000 คน ประมาณการณ์กันว่าทองคำที่ผลิตขึ้นได้ในครั้งนั้นมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ หลายคนกลายเป็นเศรษฐี แต่อีกหลายคนก็ยังคงจนเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามการตื่นทองก็นำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเกิดเมือง  ชุมชน ตามมาอีกมากมายเมื่อมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก เช่นการเกิดเมืองซานฟรานซิสโก เมืองเก่าของชุมชนสเปนในอดีต ที่ได้กลายมาเป็นแหล่งชุมชนที่มั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางการค้าของยุคตื่นทอง และยั่งยืนต่อมาถึงทุกวันนี้แม้ทองจะหมดไปแล้วก็ตาม รวมถึงการก่อกำเนิดของไชนาทาวน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ประเทศออสเตรเลีย ปี ค.ศ.1851 มีการพบแร่ทองคำจำนวนมากในธารน้ำของเมืองนิวเซาท์เวลส์ และ รัฐวิกตอเรีย ทำให้มีนักแสวงโชคเดินทางมาจากทั่วโลกกว่า 500,000 คน ทั้งอเมริกัน เยอรมัน ชาวโปลด์ และชาวจีน และยิ่งฮือฮามากขึ้นไปอีกเมื่อชาวเหมืองชื่อนายจอห์น เดียสัน กับ นายริชาร์ด โอเตส พบก้อนทองคำบริสุทธิ์ยาว 60 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร และหนัก 66 กิโลกรัม ซึ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาฝังอยู่ใต้ดินลึกเพียงแค่  3 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะทำงานอยู่ที่เหมืองทางตอนกลางของรัฐวิกตอเรีย ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.1869 ทั้งสองขายมันไปด้วยราคา 9,500 ปอนด์ หรือราว  500,000 บาท ก่อนที่ก้อนทองคำยักษ์นี้จะถูกหลอมให้กลายเป็นแท่งทองคำและขนไปเก็บไว้ในธนาคารที่ประเทศอังกฤษ ถัดมาอีก 3 ปีคือในปี ค.ศ.1872 นายเบอร์นาร์ด ออตโต โฮลเตอร์มานน์ ได้พบแร่ทองคำก้อนใหญ่ที่สุดในโลกที่มีน้ำหนักถึง 283 กก. ที่นิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเมื่อสกัดแล้วก็ได้ทองคำแท้  84 กิโลกรัมเลยทีเดียว


ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ขุมทองในดินแดนอันห่างไกล นักแสวงโชคชื่อนายจอร์จ แฮร์ริสัน ได้ค้นพบแร่ทองคำในบริเวณแอ่งวิตวอเตอร์สแรนด์ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทองคำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามที่ดินบริเวณนี้เปลี่ยนเจ้าของไปหลายมือจนกระทั่งในปี 1950 มีการค้นพบชั้นแร่ทองคำเมื่อเจาะลงไปในดินราว 1,500 เมตร ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งแร่ทองคำที่ให้ผลผลิตทองคำถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทองคำทั้งโลก

ที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1896 คนงานเหมืองได้พบทองคำที่ย่านคลอนไดค์ ในรัฐยูคอน ทางตอนเหนือของแคนาดา และเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ทำให้ชาวอเมริกันกว่า 100,000 คนพากันอพยพมาแสวงโชคที่เมืองนี้ แม้จะเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะต้องเดินทางนานนับปี พร้อมแบกเสบียงอาหารและอุปกรณ์การร่อนทองที่หนักมากไปด้วยก็ตาม เพียงแค่สองปีจาก ปีค.ศ.1896 ถึง ปีค.ศ. 1898 ชาวเมืองที่เดิมมีเพียง  500 คนก็เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม ของแพง เกิดโรคระบาด  บางคนประสบความสำเร็จร่ำรวย แต่ส่วนใหญ่โชคร้ายไม่พบทอง อดอยากและล้มตาย กระทั่งปี 1903 เหตุการณ์ตื่นทองจึงสงบลง เหลือแต่เพียงบริเวณอันเป็นตำนานที่เรียกขานกันว่า โบนันซ่า (Bonanza) อันหมายถึงความโชคดีมั่งคั่งที่อุบัติขึ้นอย่างไม่คาดฝันนั่นเอง


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/