ช่างตีทอง อาชีพของคนๆไทยที่หายไป

06 / 11 / 2561 17:09

อาชีพตีทอง หรือช่างทำทองคำเปลวนั้นมีอยู่คู่สังคมไทยมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะยุคนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการใช้ทองคำเป็นจำนวนมากในการหล่อพระ ปิดทอง  พระพุทธรูป หรือสิ่งเคารพตามความเชื่อถือต่างๆทั้งในราชสำนักและสามัญชนทั่วไป

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ย่านป่าทอง คือย่านการค้าขายทอง นาก เงิน และทองคำเปลว ส่วนย่านวัดกระชีช่าง เป็นแหล่งทำพระพุทธรูปทองคำ จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยังปรากกฏชุมชนที่มีอาชีพผลิตและค้าขายทองคำเปลว บริเวณข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือบริเวณถนนตีทองในปัจจุบัน

ถนนตีทองสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่าชุมชนแห่งนี้ เป็นย่านที่พวกช่างทองหลวงมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมกัน จนถึงช่วงปลายรัชสมัย มีการเปิดเสรีให้ราษฎรสามารถทำทองได้ ไม่จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักเท่านั้น บรรดาช่างทองหลวงจึงได้พากันประกอบอาชีพเป็นช่างตีทองคำเปลวในย่านนี้เป็นแห่งแรก ถนนที่ตัดผ่านบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่าถนนตีทอง 

น่าเสียดายที่ปัจจุบันบ้านตีทอง เหลือปรากฏเป็นเพียงชื่อถนนตีทองเท่านั้น ไม่มีกิจกรรมใดเกี่ยวกับการทำทองคำเปลวเหลืออยู่แล้ว แต่อาชีพการผลิตและค้าทองคำเปลวยังคงมีอยู่ในย่านอื่น ที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลัง เช่นบริเวณหลังวัดบวร บ้านพานถม ถนนพระสุเมรุ ถนนตะนาวเป็นต้น

ทองคำเปลว ภาษอังกฤษเรียกว่า Gold leaf คือทองที่ตีแผ่ออกมาจนเป็นแผ่นที่บางมาก  ทำจากทองคำแท้  มีสีที่แตกต่างกันตามโลหะที่นำมาผสมในระหว่างกระบวนการผลิต มีความบริสุทธิ์ ตั้งแต่ 96.5%จนถึง 99.99%

ปัจจุบันมีการนำทองคำวิทยาศาสตร์มาใช้งานแทนทองคำเปลวที่ทำจากทองคำแท้เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยมีวิธีการสังเกตความแตกต่างระหว่างทองคำเปลววิทยาศาสตร์และทองคำเปลวแท้ได้ง่าย คือถ้าเป็นทองคำเปลววิทยาศาสตร์จะมีลักษณะเป็นแผ่นบางแตกเป็นชิ้นและเป็นรอยขาด เมื่อใช้นิ้วมือขยี้จะไม่ติดมือ แต่ถ้าเป็นทองคำเปลวแท้ เมื่อใช้นิ้วมือขยี้แล้วทองคำเปลวจะติดมือและจะมีสีที่แวววาวกว่าทองคำเปลววิทยาศาสตร์


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/