วิวัฒนาการ เครื่องประดับทองของไทย

20 / 11 / 2561 14:59

เครื่องประดับทองของไทย มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ในช่วงแรกได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากอินเดียเมื่อครั้งที่มีการติดต่อค้าขายกัน และได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์และฮินดูที่เข้ามาในประเทศไทยผ่านทางอาณาจักรเขมร ต่อมารูปแบบเครื่องประดับได้ถูกผสมผสานเข้ากับศิลปะของคนไทยพื้นเมืองและได้เกิดเป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น  เครื่องประดับทองในยุคแรกมุ่งเน้นไปที่ เครื่องราชูปโภค เครื่องสักการะในพระพุทธศาสนา และเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ทำด้วยโลหะทองคำ

เครื่องประดับทองจัดเป็นผลงานประณีตศิลป์ชั้นสูง และเป็นสมบัติของชาติที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งมีรูปแบบและลวดลายทางศิลปะที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

เครื่องประดับสมัยสุโขทัย ช่วงแรกมีลักษณะและรูปแบบคล้ายงานศิลปะเขมร ต่อมารูปแบบของเครื่องประดับมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการเผยแผ่พระพุทธศานาและศาสนาพราหมณ์เข้ามาในราชอาณาจักรสุโขทัย  ทำให้รูปแบบของเครื่องประดับเปลี่ยนไปยึดแบบแผนมาจากเครื่องประดับของเทวรูป เช่น มงกุฎ เทริด รัดเกล้า กรองคอ สังวาลย์ พาหุรัด กุณฑล เป็นต้น

สมัยอยุธยายังคงรับเอารูปแบบของเครื่องประดับมาจากสมัยสุโขทัย แต่ในยุคนี้ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติทั้งชาวตะวันตกและชาวเปอร์เซียมากขึ้น จึงได้มีการนำเอาวัสดุและวิธีการทำเครื่องประดับของต่างชาติเข้ามาผสมผสานและดัดแปลง ทำให้รูปแบบของเครื่องประดับดูแปลกใหม่และแตกต่างจากในยุคสุโขทัย ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุ่งเฟื่องฟูของเครื่องทองไทย  มีการใช้ทองคำเพื่องานประณีตศิลป์ในหลาย ๆ ประเภท

สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3 การใช้เครื่องประดับในสมัยนี้ ยังคงสืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยาในทุกๆ ด้าน จนถึงรัชกาลที่ 4 วัฒนธรรมการใช้เครื่องประดับจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น  มีการใช้เครื่องประดับที่เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบ ในราชการ หรือส่วนพระองค์ รวมทั้งพระราชทานให้แก่ประมุขของรัฐต่างประเทศ ที่มีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศไทย   

สมัยรัชกาลที่ 5ถึงปัจจุบัน  ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของศิลปะและรูปแบบของเครื่องประดับทองอย่างชัดเจน เพราะมีการติดต่อกับตะวันตกมากขึ้น ทำให้ศิลปะการใช้เครื่องประดับแบบชาวตะวันตกได้รับความนิยมมากขึ้น การทำเครื่องประดับทองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในราชสำนักเท่านั้น แต่เกิดช่างทำทองรูปพรรณขึ้นมากมาย ทั้งช่างไทยและช่างจีน ทั้งในพระนครและตามหัวเมืองต่างๆ  เช่นช่างทองจากเมืองนครศรีธรรมราช และช่างทองเมืองเพชรบุรี  กลุ่มช่างทองที่ถนนตีทอง ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม จนวิวัฒนาการมาเป็นศูนย์กลางทองคำของประเทศที่ถนนเยาวราชในปัจจุบัน


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/