เครื่องประดับทองสมัยสุโขทัย

20 / 11 / 2561 15:00

กรุงสุโขทัยมีอสยุประมาณ200 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 1792 -พ.ศ.1981 นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขึ้นครองราชย์  จนถึงสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4 

สมัยสุโขทัยมีหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องประดับไทยไม่มากนัก ส่วนใหญ่ศึกษาจากศิลปวัตถุและภาพจิตรกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ ในโบราณสถานบางแห่ง ซึ่งพออนุมานได้ว่า เครื่องประดับในสมัยสุโขทัยมีที่มาจากศิลปะของชนพื้นเมืองที่เป็นคนไทย ผสมผสานกับศิลปะขอมสมัยอาณาจักรลวปุระหรือละโว้ และศิลปะมอญสมัยอาณาจักรทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง เช่นเดียวกับอาณาจักรโบราณที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ อาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรศรีวิชัย ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ของคาบสมุทรอินโดจีน ตามลำดับ แบ่งออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ

1.เครื่องประดับของเทวรูป  แม้พระพุทธศาสนาจะอิทธิพลอยู่มากในราชสำนักแต่ศาสนาพราหมณ์ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน  ดังนั้นจึงมีการสร้างเทวรูปเป็นจำนวนมากและมีการประดับตกแต่งอย่างเต็มรูปแบบตามความเชื่อทั้ง มงกุฎ เทริด กรองศอหรือสร้อยคอ พาหุรัด หรือกำไลที่ต้นแขน และกุณฑลหรือตุ้มหู  ซึ่งในช่วงแรกทำเป็นรูปแบบเรียบง่าย ต่อมามีการตกแต่งลวดลายให้วิจิตรงดงามมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากเทวรูปสำริดพระอิศวรสมัยสุโขทัย ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ที่วัดป่ามะม่วง เครื่องทรงครบชุดทั้ง มงกุฏ กรองศอ สังวาล และพาหุรัด เป็นต้น

2.เครื่องประดับของเทวดา กษัตริย์ และบุคคลชั้นสูง  เน้นที่มงกุฎ ชฎา และเทริดเป็นเครื่องประดับศีรษะ โดยมีกะบังหน้า  และมีกรรเจียกจอนเพิ่มเข้ามา หากเป็นสตรีจะมีรัดเกล้าเป็นเครื่องประดับส่วนบนของศีรษะ มีทั้งแบบปลายยอดทรงกรวยแหลม และทรงเปลว นอกจากนี้ก็มีเครื่องประดับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ กรองศอ พาหุรัด กุณฑล ทองกร ธำมรงค์ โดยทองกรนั้นทำเป็นแหวนเกลี้ยง3-4 วง สวมใส่ไว้ที่ต้นแขนหรือข้อมือ ดังเช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังบนบานประตูพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แสดงให้เห็นการแต่งกายของเทวดาที่ใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างเต็มที่

3.เครื่องประดับของสามัญชน บุคคลที่เป็นสามัญชน เช่น พ่อค้า และชาวบ้านทั่วไป พบหลักฐานการใช้เครื่องประดับแค่เพียง ต่างหู เช่น บนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัยเท่านั้น

แม้จะมีหลักฐานไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าเครื่องประดับทองสมัยสุโขทัยมีอิทธิพลต่อรูปแบบและงานศิลปของเครื่องประดับสมัยอยุธยาในเวลาต่อมา


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่  https://www.aagold-th.com/gold-rate/