เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ศึกษาความผันผวนของราคาทองคำไว้ ซื้อขายไม่ติดลบ

30 / 03 / 2561 15:20

          เก็งกำไรด้วยการลงทุนทองคำอย่างชาญฉลาด ศึกษาอุปสงค์อุปทานทองคำ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาทองคำในตลาดโลก เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง คาดการณ์แนวโน้มได้อย่างแม่นยำ ซื้อขายได้ถูกจังหวะ รับแต่กำไรไม่มีขาดทุน

          ทองคำ ที่ใคร ๆ ก็ต่างหันมาซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรนั้น เบื้องหลังผลตอบแทนที่สูง และกำไรที่งดงามนั้น เต็มไปด้วยความผันผวน นั่นเป็นเพราะว่าราคาทองคำนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งจะใช้คำว่าเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็คงไม่ผิดนัก เมื่อเศรษฐกิจดี ราคาทองอาจปรับขึ้นหรือลง ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นเนื่องจากความเชื่อมั่นเริ่มสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น นักลงทุนก็มักจะขายทองคำเพื่อเก็บเงินดอลลาร์ไว้ ซึ่งตามหลักแล้วเมื่อมีอุปทานมาก ราคาทองคำก็จะปรับลดลง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างเมื่อเศรษฐกิจดีก็คือ ผู้คนเริ่มมีรายได้ดี และอาจมีความต้องการในการซื้อทองคำเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรมากขึ้น ดังนั้น เมื่ออุปสงค์มาก ทองคำก็จะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ ก็ต้องทำการชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าแนวโน้มของราคาทองคำน่าจะเทไปทางไหน โดยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของอุปสงค์อุปทานทองคำให้ดี   

อุปสงค์ หรือความต้องการซื้อทองคำ

          ความต้องการทองคำของตลาดโลก ที่มีผลกับราคาทองคำ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ซึ่งได้แก่

  1. เครื่องประดับ เป็นความต้องการหลักของทองคำในตลาด ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชีย และตะวันออกกลาง ซึ่งมีความนิยมในการใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับ และของขวัญในโอกาสพิเศษตามเทศกาลต่าง ๆ

  2. อุตสาหกรรมการผลิต ภาคอุตสาหกรรมที่ในการผลิตมีความต้องการใช้ทองคำมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ นาโนเทคโนโลยี อุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งอาจมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นอีกในอนาคต

  3. การลงทุน ในภาคการลงทุนนั้น ความต้องการทองคำในรูปแบบต่าง ๆ มีความเติบโตมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดทองคำได้เป็นอย่างดี


อุปทาน หรือความต้องการขายทองคำ

          อุปทานของทองคำ ขึ้นอยู่กับปริมาณทองคำในท้องตลาด ซึ่งจะมาจาก 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  1. เหมืองทองคำ ประเทศที่มีการผลิตทองคำออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด คือ ประเทศแอฟริกาใต้ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยอุตสาหกรรมการทำเหมืองทองคำมีบทบาทสำคัญต่อปริมาณทองคำในท้องตลาดมากที่สุด

  2. ทองคำที่หมุนเวียนในตลาด ได้แก่ ทองคำเก่าที่ถูกแปรรูปแล้วทำให้อยู่ในรูปทองคำแท่ง มักจะมีอุปทานที่สูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีอิทธิพลต่อกลไกราคาทองคำรองจากผลผลิตจากเหมืองทองคำ

  3. การขายทองคำของสถาบันการเงิน เพราะในปัจจุบันสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และธนาคาร จะมีการเก็บทองคำไว้เพื่อเป็นทุนสำรอง โดยจะขึ้นอยู่กับนโยบายทานการเงินของแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทุนสำรอง ดังนั้น การขายทองคำของหน่วยงานดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในตลาด


          การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปสงค์อุปทานทองคำ จะทำให้เกิดความเข้าใจกลไกราคาทองมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ลงทุนทองคำสามารถประเมินความเสี่ยงจากการซื้อขายทองคำเพื่อเก็งกำไรได้ นับเป็นการลงทุนอย่างฉลาด และคาดหวังผลกำไรได้อย่างแน่นอน