แผ่นทองคำที่เขาชัยสน จ.พัทลุง

07 / 12 / 2561 12:21

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์ตื่นทองเกิดขึ้นที่ ม.7 ต.เขาชัยสน จ.พัทลุง คือมีการขุดพบแผ่นทองคำโบราณ ทองรูปพรรณและโบราณวัตถุจำนวนมากในพื้นที่สวนปาล์มของนายวิ ทับแสง และมีชาวบ้านนับพันแห่ไปขุดทองที่สวนแห่งนี้ จนหน่วยงานราชการ ต้องเข้าควบคุมพื้นที่ ตลอดจนเรียกร้องให้ผู้ที่ขุดทองได้นำมาคืนหน่วยงานรัฐโดยให้ค่าตอบแทนตามที่กฎหมายกำหนด ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่มีสำนึกรักหวงแหนสมบัติชาตินำทองที่ขุดได้มาส่งคืนกรมศิลปากรจำนวนมาก

ทองคำที่ชาวบ้านขุดพบและนำมามอบให้กรมศิลปากรมีจำนวน 22 รายการ ประกอบด้วย ทองรูปพรรณ 4 รายการ ได้แก่ กำไลหัวมังกร ชิ้นส่วนกำไล จี้รูปปลัดขิก ลูกปัดทองคำ และแผ่นทองคำที่มีจารึกอักษรจีนอีก13 รายการ การศึกษาเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญทำให้ได้ข้อมูลว่า ทองคำดังกล่าวน่าจะมีอายุราว พ.ศ.1670–1822 หรือประมาณ 700-800 ปีมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ตัวอักษรจีนที่ประทับลงบนแผ่นทองคำโดยดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช  ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่าแผ่นทองคำที่พบนั้นน่าจะใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายแทนเงินตรา เปรียบเสมือนการใช้ธนบัตรในปัจจุบัน ซึ่งการผลิตทองคำแผ่น ต้องมีการสัมปทานจากรัฐ หรือราชสำนักจึงต้องมีการปั๊มตัวหนังสือลงไปบริเวณมุมแผ่นทอง และกลางแผ่นทองคำ สังเกตดูจะพบว่ามีตัวหนังสือคล้ายๆกันกระจายไปทั่วทั้งแผ่น

ซึ่งในแผ่นทองคำที่พบ มีอักษรจีนคำว่า ป้าเป่ยเจียซี คำว่าป้าเป่ยคือชื่อของสถานที่  เจียแปลว่าถนน  ซี แปลว่าตะวันตก เมื่อแปลความหมายโดยรวมแล้วหมายถึง โซนฝั่งตะวันตกของถนนป้าเป่ย หรือถนนป้าเป่ยฝั่งตะวันตก ชื่อป้าเป่ย เป็นคำโบราณ ซึ่งนักวิจัยพบว่าชื่อนี้ใช้เรียกกันในสมัยราชวงศ์ ชุ้งใต้ ปัจจุบันไม่พบชื่อนี้แล้ว 

ตำแหน่งต่อไปพบบริเวณส่วนกลางของแผ่นทองคำคือชื่อผู้การันตี หรือรับรองคุณภาพทองคำว่าเป็นทองคำแท้ จากอักษรตัวนามสกุลอ่านได้ว่า แซ่หาน  และท้ายสุดเป็นอักษรที่บอกเปอร์เซ็นต์ทอง ซึ่งอ่านได้ว่าสือเฟินจิน  สือเฟินแปลว่าสิบส่วน จิน แปลว่าทอง รวมแล้วหมายถึงทองคำสิบส่วน แปลว่าเป็นทองที่มีคุณภาพสูงหรือเปอร์เซ็นต์ทองคำสูง ซึ่งทองที่พบมีความบริสุทธิ์ของทองคำถึง 97% ที่เหลือเป็นเงิน 

จากการศึกษาชั้นดินใน พื้นที่สวนปาล์มแห่งนี้ พบว่าในอดีตน่าจะเคยเป็น หนองน้ำที่เชื่อมไปยังคลองพะเนียดและคลองท่ามะเดื่อ  ไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลาแล้วออกทะเลที่อ่าวไทย จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ทองคำที่พบในสวนปาล์มนี้อาจเป็นของพ่อค้าหรือบุคคลมีฐานะหรือบุคคลชั้นสูงชาวจีน ที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้โดยทางเรือ อาจมาเพื่อการค้าหรือกิจธุระอื่นใด ก่อนที่เรือจะล่มลงพร้อมกับทองคำในบริเวณนี้
     
ปัจจุบันการขุดหาทองได้ยุติลงไปแล้ว และกรมศิลปากรได้คืนพื้นที่ให้เจ้าของนำกลับไปทำสวนปาล์มแล้ว แต่หากมีการขุดพบทองคำอีกก็ให้แจ้งกรมศิลปากรทราบทันที



เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่
  https://www.aagold-th.com/gold-rate/