ศึกษาทองโบราณด้วยรังสีX

19 / 12 / 2561 16:35

กรุสมบัติวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุเป็นโบราณสถาน2 แห่งสำคัญที่มีการขุดพบเครื่องทองโบราณเป็นจำนวนมากซึ่งรอดพ้นจากการศูนย์เสียให้พม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นได้มีการนำเครื่องทองโบราณที่พบมาวิเคราะห์ ศึกษาลักษณะเฉพาะ และแหล่งที่มาของทองของทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ ด้านสังคม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “วิธีการวาวรังสีเอกซ์”หรือ “เอกซ์อาร์เอฟ”

นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกันทำงานวิจัยนี้ โดยได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาที่ได้จากกรุสมบัติวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ จำนวน 12 ชิ้น ประกอบด้วยเครื่องทอง โบราณ 10 ชิ้น และตัวอย่างที่ทำจากวัสดุไม่ใช่ทองอีก 2 ชิ้น ตัวอย่างทองคำจากแหล่งโบราณคดีทางภาคใต้ 2 ชิ้น และได้นำทองรูปพรรณสมัยปัจจุบัน จำนวน 11 ชิ้น มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ด้วยเครื่องวิเคราะห์การวาวรังสีเอกซ์แบบพกพา (Portable XRF) วัดรังสีเอกซ์จากตัวอย่าง โดยใช้เวลาในการวัดตัวอย่างละ 60 วินาที วัดอย่างน้อยตัวอย่างละ 2 ตำแหน่ง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ทางสถิติ

ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าทองคำ จากกรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะมีความบริสุทธิ์อยู่ในช่วง 19 ถึง 23 K(กระรัต) ยกเว้น 2 ชิ้นงานที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 24 K ได้แก่ ผอบทองคำ และแผ่นตาลบัตรจำลอง ซึ่งทั้ง 2 ชิ้นนี้อยู่ในเจดีย์ศรีสุริโยทัย สันนิษฐานว่า การที่ชิ้นงานดังกล่าวมีความบริสุทธิ์สูงเป็นพิเศษ น่าจะมาจากกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากชิ้นอื่น ซึ่งเมื่อเปรียบกับทองในปัจจุบันมีการกระจายตัวของความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 9 ถึง 24 K และมีส่วนผสมของดีบุกด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทองจากอยุธยามีส่วน ผสมของดีบุกได้อย่างไร เพราะดีบุกมาจากทางภาคใต้จึงได้ทำการศึกษาตัวอย่างทองจากภาคใต้พบว่ามีส่วนผสมของดีบุกและมีองค์ประกอบของธาตุอื่นเหมือนกันจึงสันนิฐานว่าน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน  

การใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าการวาวรังสีเอกซ์นี้ในต่างประเทศมีมานานกว่า 20 ปีที่แล้ว เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกเพราะสามารถวิเคราะห์ธาตุได้เกือบทั้งหมด มีไม่ถึง 20 ธาตุจากร้อยกว่าธาตุที่อาจวิเคราะห์ไม่ได้และเป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทองโบราณที่นำมาศึกษาด้วย

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งเครื่องมือ เพื่ออ้างอิงและพิสูจน์ทองคำอื่นๆอีกหลายชิ้น และหากพบว่าชิ้นใดเป็นเครื่องทองที่อยู่ในสมัยอยุธยา จะนำมารวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องทองโบราณหลังใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 และจะเป็นพิพิธภัณฑ์หลังแรกของไทยที่มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของเครื่องทองโบราณที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ มาตอบโจทย์การวิจัยทางโบราณคดีที่เป็นรูปธรรม


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/