พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ

19 / 12 / 2561 16:35

“...ข้างบนของแท่นนั้นมีโต๊ะสำริด ๓ ตัวบนโต๊ะนั้นทาง ทิศเหนือ มีพระแสงทองคำปักไว้ข้างขอบโต๊ะนั้นทางเหนือบนโต๊ะ ทางเหนือมีเสื้อทองคำ อยู่แปดตัว และมหามงกุฎอีกอันหนึ่ง...” นี่คือส่วนหนึ่งของบันทึกคำให้การของคนร้ายที่ลักลอบเข้าไปขุดหาสมบัติกรุวัดราชบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นเวลาถึง ๕๓๒ ปี นับจากปีที่สร้างวัดราชบูรณะในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยาในปีพ.ศ.๑๙๖๗

พระแสงทองคำที่พูดถึงก็คือพระแสงขรรค์ หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่มีขนาดเท่าองค์จริง และมีมีรูปแบบที่ไม่เหมือนพระขรรค์องค์ใดเท่าที่มีการบันทึกหรือเท่าที่จะสามารถศึกษาได้  เช่น ฝักพระแสงขรรค์ แยกเป็นสองแฉกเหมือนหางนกแซงแซว ซึ่งต่างจากพระแสงขรรค์ชัยศรีรัตนโกสินทร์(องค์ปัจจุบัน)ที่ตัดตรงเหมือนฝักดาบทั่วไป  รูปทรงของใบพระแสงขรรค์กรุฯวัดราชบูรณะก็ค่อนข้างแบนไม่หนามาก ต่างจากพระแสงขรรค์ชัยศรีรัตนโกสินทร์ ที่หนาเหมือนใบหอก และต่างจากดาบทรง หรือพระขรรค์เล่มอื่นๆ  แต่กลับมีความสอดคล้องกับรูปแบบดาบ  อินเดียโมกุล หรือ อินโด-อิราเนียน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยดาบสองคมรูปแบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า  คานดา หรือ เคนด์ (Khande) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่ม ราชบุตร (Rajputs) รัฐราชาสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับประเทศปากีสถานลงมาจนถึงอินเดียตอนใต้ ซึ่งนับถือศาสนา ฮินดู

(คำว่า Khande มีรากศัพพ์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงดาบหรืออาวุธมีคมซึ่งออกเสียง และมีความหมายเดียว กันกับคำว่า “ขรรค์” ในภาษาไทย ศัตราวุธนี้มีประวัติยาวนานสืบย้อนไปได้ถึงสมัยพุทธกาล)


พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ มีความยาว 115 เซนติเมตร องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคม 2 ด้าน แฝงความหมายของความยุติธรรมแห่งองค์พระมหากษัตริย์ หากต้องลงดาบจะไม่สามารถเลือกด้านใดด้านหนึ่งได้ ฝักทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญมณี ด้ามทำด้วยเขี้ยวหนุมาน หรือหินควอทซ์ซึ่งมักเรียกว่าแก้วผลึกเป็นรูปแปดเหลี่ยม 

พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ จากกรุพระปรางค์วัดราชบุรณะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของศัตราวุธ ที่แสดงให้เห็นถึง การผสมผสานระหว่างงานช่างชาวสยามกับรูปแบบของต่างชาติโดยปรับให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน และ ความงามอย่างไทย 


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/