ความเป็นมาของเหมืองแร่ทองคำในไทย

30 / 03 / 2561 15:46

          ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์ในดินประเภทแร่ต่าง ๆ ที่มีการขุดค้นพบหลายชนิด และทองคำ แร่ธาตุสุดล้ำค่าก็สามารถพบเจอได้ในประเทศไทยเช่นกัน วันนี้เราจึงขอเปิดประวัติความเป็นมาของเหมืองแร่ทองคำในไทย ให้ทุกท่านได้รับทราบกันครับ

          สำหรับประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย จากหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนคือราวสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเริ่มมีการสำรวจและขุดพบแหล่งสายแร่ทองคำ แต่ยังพบไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเหมืองแร่ดีบุกมากกว่า จนกระทั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ราคาทองในตลาดโลกเริ่มสูงขึ้น จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ รศ.120 นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่เกี่ยวกับแร่อื่น ๆ รวมทั้งทองคำ หลังจากนั้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำได้พัฒนามาเรื่อย ๆ เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการขุดเจาะและสำรวจ เพื่อสนองความต้องการซื้อทอง ขายทอง ทั้งในประเทศไทยและในตลาดโลก ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้เปิดเผยว่า มีแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทยที่มีศักยภาพและปริมาณมากพอสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 9 บริเวณ แต่สามารถอนุญาตให้เอกชนสัมปทานจุดเจาะได้เพียง 2 บริเวณเท่านั้น คือที่พิจิตรและเลย เนื่องด้วยการทำเหมืองแร่ทองคำอาจส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงจึงมักจะมีปัญหากับกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่อยู่เสมอ อีกทั้งการทำเหมืองแร่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการลงทุนค่อนข้างมาก

          เหมืองแร่ทองคำมีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า 100 ปี ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทองคำยังคงเป็นแร่ล้ำค่าที่มีมนต์ขลัง เป็นที่ต้องการของผู้คนอยู่เสมออย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย