การทำทองคำแท่ง-ทองคำรูปพรรณ ต่างกันอย่างไร

02 / 01 / 2562 23:10

คนไทยมักให้ทองคำเป็นของขวัญของกำนัลในวาระสำคัญต่างๆเช่น  รับขวัญเด็กเกิดใหม่ ใช้เป็นสินสอดทองหมั้น หรือมอบให้กับคนรักในโอกาสพิเศษ ที่นิยมให้กันในรูปแบบของทองรูปพรรณ แต่ปัจจุบันหันมาให้เป็นทองคำแท่งมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่ากำเหน็จเหมือนทองรูปพรรณ และการให้ทองเป็นไปเพื่อการลงทุนมากกว่าใช้เป็นเครื่องประดับ
 
ในการผลิตทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณในบ้านเรานั้นมีการนำเข้าทอง Four nine หรือ ทองคำบริสุทธิ์ 99.99% จากต่างประเทศ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตซึ่งขั้นตอนการผลิตจะแตกต่างกันคือ การทำทองคำแท่งจะนำทองคำ Four nine ไปหลอมละลาย ทองคำก็จะเปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นของเหลว แล้วก็นำไปเทใส่เบ้าพิมพ์ เมื่อเย็นตัวลงแล้วจึงแกะออกจากเบ้าพิมพ์

จากนั้นนำมารีดเพื่อให้ได้ขนาดและน้ำหนักตรงตามความต้องการของร้านทองแต่ละร้านที่สั่งผลิต แล้วนำไปตัดและปั๊มให้ได้ขนาดตามแม่พิมพ์  ทองส่วนที่เกินจะถูกขูดออกไปเพื่อให้ได้น้ำหนักพอดี โดยต้องทำการชั่งน้ำหนักเป็นระยะๆ เนื่องจากหากน้ำหนักเกินผู้ผลิตก็จะขาดทุน แต่ถ้านำหนักขาดก็จะไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่ร้านทองกำหนด
 
ขั้นตอนที่ยากที่สุดของการทองคำแท่ง 96.5% คือการขัดเงา คนที่จะทำการขัดได้จะต้องมีประสบการณ์และมีความชำนาญ
 
ส่วนการทำทองรูปพรรณเริ่มจากการนำทองคำแท่งมารีดเป็นเส้นเล็กๆ ตามลวดลายและขนาดที่ลูกค้าสั่ง แล้วนำไปขึ้นรูป ซึ่งการขึ้นรูป สลักลาย ต้องชั่งน้ำหนักตลอดเวลา การทำทองรูปพรรณแต่ละลายช่างทองต้องมีทั้งทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ จากนั้นก็นำชิ้นงานชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นมาร้อยเชื่อมประสานให้เป็นทองเส้นเดียวกัน โดยใช้น้ำยาประสาน น้ำหนักของน้ำยาประสานก็ต้องมีปริมาณไม่เกินกว่าที่ สคบ. กำหนด คือต้องไม่เกิน 3% ของน้ำหนักทอง ซึ่งน้ำยาประสานก็คือทองคำที่มีความเข้มข้นกว่านั่นเอง
 
ขั้นตอนสุดท้ายของการทำทองรูปพรรณคือ การวัดขนาดและการต้มสี เพื่อให้ทองคำมีความแวววาว สวยงาม คล้ายกับขั้นตอนการขัดเงาในทองคำแท่ง โดยนำไปต้มกับดินประสิว ล้างด้วยน้ำกรด และขัดเงา
 
การทำทองคำรูปพรรณ ต้องอาศัยชั่งฝีมือและใช้เวลาในการทำนานจึงเป็นที่มาของการคิดค่ากำเหน็จตามความยากง่ายของทองรูปพรรณแต่ละลาย และระยะเวลาในการผลิตนั่นเอง


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/