วัยทอง

07 / 01 / 2562 17:25

วัยทอง คือช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านจากวัยผู้ใหญ่สู่วัยผู้สูงอายุถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญช่วงหนึ่งในชีวิต  มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สรีระร่างกาย จิตใจและอารมณ์ อันมีผลมาจากรังไข่หยุดการทำงานหรือเรียกว่าเกิดภาวะหมดประจำเดือน(menopause)  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

1.ภาวะหมดระดูตามธรรมชาติ นับเมื่อขาดประจำเดือนไปแล้ว 1 ปี จากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายถือเป็นอายุที่เข้าสู่วัยทองอย่างแท้จริง ผู้หญิงที่จะเข้าสู่วัยทองมีอายุเฉลี่ยประมาณ 50-51ปี

2.ภาวะหมดระดูที่เกิดจากโรคและผลพวงของการรักษาโรค แบบนี้มักจะเกิดก่อนวัยอันควร คืออายุประมาณ 40-45 ปี  เช่นการรับเคมีรักษามะเร็งชนิดต่างๆ การฉายรังสีรักษา การผ่าตัดที่ทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อเยื่อรังไข่หรือมีการรบกวนต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรังไข่หรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เป็นและการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้างก็จะทำให้เข้าสู่วัยทองทันที

เมื่อเข้าสู่วัยทองจะทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ ตามด้วยเหงื่อออกและหนาวสั่น  แสบของช่องคลอดเนื่องจากผิวหนังแห้งและบางลง  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาจจะปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม ความรู้สึกทางเพศลดลง  นอนไม่หลับหรือหลับยาก ตื่นเร็ว และบางครั้งตื่นกลางคืนบ่อยๆ

นอกจากนี้อารมณ์ยังแปรปรวน เครียด หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย  ซึ่งบางคนอาจจะมีอาการหลงลืมง่าย ซึมเศร้าและเวียนศีรษะ  มีไขมันเพิ่ม กล้ามเนื้อลดลง การเผาผลาญพลังงานลดลง ผิวหนังจะบางและแห้ง ซึ่งทำให้เกิดแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง เกิดผื่นแพ้ได้ง่าย เส้นผมจะหยาบ แห้งบาง และ หลุดร่วงได้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ กระดูกจะบางและเปราะ หักง่ายขึ้น

ดังนั้นผู้หญิงวัยทองจึงต้องดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้แข็งงาดำ ปลาเล็กปลาน้อย  ผักใบเขียว เป็นต้น งดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงและเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญควรตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี บางท่านอาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ร่วมด้วย

ส่วนอาการวัยทองของผู้ชายจะแบ่งออกได้ 2 อย่างหลักๆ คือ ทางกายภาพ และ ทางจิตใจอารมณ์  ทางกายภาพจะวัดที่ปริมาณของไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกาย สังเกตได้จากขนาดของรอบเอวที่ใหญ่ขึ้น การสร้างฮอร์โมนเพศชายน้อยลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศในตอนเช้าน้อยกว่า 10 ครั้งต่อเดือน หรือความต้องการทางเพศลด

ส่วนอาการทางจิตใจอารมณ์นั้น จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา หงุดหงิดง่าย ขี้บ่น  ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เล่นกีฬาได้ไม่ดีเท่าเดิม เป็นต้น

อาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตัวคนไข้และคนรอบ การดูแลรักษาสุขภาพและรู้เท่าทันโรควัยทองเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/