ตาเต็ง ตาชั่งทองโบราณ

03 / 02 / 2562 17:19

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ตราชู-ตาชั่ง”กันมาบ้างแล้ว คำนี้ประกอบด้วยคำว่า ตราชู กับ ตาชั่ง หมายถึงเครื่องชั่งน้ำหนักในสมัยโบราณ

ตราชูไม่ใช่คำภาษาไทยแต่มาจากภาษาทมิฬว่า ตราจุ เป็นชื่อเครื่องชั่งโบราณมีหลักฐานปรากฏเป็นภาพเขียนอยู่ในพีระมิดของอียิปต์ ทำเป็นรูปเครื่องชั่งมีหลักกลางห้อยลงมา ตามความเชื่อของอียิปต์เชื่อว่าคนตายแล้ว จิตวิญญาณจะต้องไปเข้าเครื่องชั่งเพื่อตรวจสอบความดีความชั่ว โดยใช้ขนนกเป็นลูกชั่ง ในคัมภีร์กุรอ่านกล่าวว่าพระอัลเลาะห์ได้มอบตราชูมาให้มนุษย์ใช้เพื่อความยุติธรรม
 
คนไทยออกเสียงเป็นตราจุ ว่าตราชู หมายถึงความเที่ยงตรงไม่ลำเอียง  คนอินเดียโบราณเรียกว่า ตุลา เป็นภาษาสันสกฤต คำว่าตราชูและตุลน่าจะเข้ามาเมืองไทยพร้อมๆ กัน  ในสมัยก่อนให้เด็กนั่งในสาแหรกข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งในผลไม้เผือก มัน ของกิน มักทำกันในวันเกิด และของที่นำมาชั่งนั้นให้เป็นของขวัญแก่เด็กนั่นเอง

สำหรับคนไทยรู้จักการชั่งด้วยมือมาช้านาน เช่นเอาของใส่ในมือซ้ายและในมือขวา แล้วหยั่งหรือชั่งน้ำหนักของสองสิ่งนั้นว่าน้ำหนักเท่ากันหรือไม่ และเมื่อมีตราชูเข้ามาใช้ ไทยจึงเรียกสิ่งนั้นว่าตราชั่ง  เพราะคล้ายกันกับชั่งด้วยมือ และกลายมาเป็นคำว่าตาชั่ง อย่างที่ใช้กันทุกวันนี้

ตาชั่งมีหลายแบบ บางอย่างหาดูได้ยากแล้ว เช่น ตาชั่งจีน รูปร่างเป็นคันยาวมีลูกชั่งติดอยู่กับคันมีรอยขีดบอกอัตราน้ำหนัก จีนนำเอามาใช้แต่โบราณ ขนาดใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักมาก มีมาตราเป็นตำลึงจีน, ชั่งจีน
ถ้าเป็นตาชั่งจีนขนาดเล็กใช้ชั่งน้ำหนักน้อย มีมาตราเป็นหลี เป็นหุน เรียกกันว่า ตาเต็ง ที่คันชั่งมีรอยเป็นจุดๆ สำหรับนับแบ่งคล้ายกับเป็นตาของเต็ง ใช้ในการชั่งทอง เงิน และยาจีน สำนวนไทยว่า ไม่เต็มเต็ง และ เบาเต็ง หมายถึงคนบ้าๆ บอๆ ผิดธรรมดา ก็มาจากตาเต็งนี่เอง

ตาชั่งฝรั่งคนไทยโบราณเรียกว่า ตาปอนด์ มีอยู่2 แบบ แบบหนึ่งเป็นแท่นใหญ่สำหรับวางของ ใช้สำหรับชั่งของที่มีน้ำหนักมาก อีกแบบหนึ่งเป็นตาชั่งหน้าปัดกลม มีเข็มหมุนไปตามขีดที่บอกอัตราน้ำหนัก ใช้สำหรับชั่งของที่มีน้ำหนักน้อย ทั้งสองแบบมีมาตราเป็นปอนด์ จึงเรียกกันว่า ตาปอนด์


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/