แบงก์ชาติทั่วโลกทิ้งดอลล่าห์ตุนทอง

04 / 02 / 2562 15:33

สภาทองคำโลก (WGS) รายงานสรุปยอดซื้อสะสมทองคำของธนาคารทั่วโลกประจำปี 2018 ว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยลดสัดส่วนการถือครองดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศลง 

สภาทองคำโลกระบุว่า ในปี 2018 ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกได้ซื้อทองคำสุทธิไปจำนวน 651.5
ตัน โดยเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2017 ซึ่งในปีดังกล่าวธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำสุทธิรวมกันเพียง 375 ตันเท่านั้น  สภาทองคำโลกคาดการณ์ว่า ขณะนี้ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำในทุนสำรองรวมกันเกือบ 34,000 ตัน โดยธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เป็นธนาคารกลางซึ่งถือครองทองคำมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของทุนสำรองเงินตราของสหรัฐ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำในปีที่แล้วคิดเป็นปริมาณมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 และเป็นปริมาณมากที่สุดนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันตัดสินใจยกเลิกระบบผูกติดค่าเงินดอลลาร์กับทองคำในปี 1971

สภาทองคำโลกยังเปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาราคาทองในตลาดสปอตซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,321.15 ดอลลาร์/ออนซ์ ธนาคารกลางทั่วโลกที่กว้านซื้อทองคำนี้คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 8.44 แสนล้านบาท โดยธนาคารกลางรัสเซียได้ซื้อทองคำมากที่สุดในปีที่แล้ว หลังจากที่ได้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจนเกือบหมดในทุนสำรอง และได้หันมาซื้อทองคำจำนวน 274.3 ตัน ส่วนธนาคารกลางอื่นๆที่ได้ซื้อทองคำจำนวนมากในปีที่แล้ว ได้แก่ ตุรกี คาซัคสถาน อินเดีย อิรัค โปแลนด์ และฮังการี

ปัจจุบันรัสเซียมีทองคำสำรองอยู่ที่ 2,066 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 2.71 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ของทุนสำรองทั้งหมด

รายงานของสภาทองคำโลกยังระบุว่า การซื้อทองคำเพิ่มของธนาคารกลางหลายแห่งช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 หลังร่วงหนัก 10% ในครึ่งปีแรก ซึ่งการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางจำนวนมากในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ พยายามกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศออกจากสกุลเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่กำลังปรับตัวขึ้น โดยก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางลดลงเกือบแตะระดับต่ำสุดรอบ 5 ปี ในไตรมาส 3 ปี 2018

ส่วนสถานการณ์ราคาทองคำในปี 2019 จะเป็นอย่างไรคงต้องจับตาดูกันต่อไป


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/