ผ้ากรองทอง ผ้าไทยสมัยโบราณ

24 / 02 / 2562 22:28

ผ้ากรองทอง เป็นผ้าโบราณที่ใช้เฉพาะเจ้านายผู้หญิงชั้นสูงเท่านั้น มีขนาดกว้างยาวเท่ากับผ้าสใบ ชายผ้าด้านกว้างปล่อยเป็นชายครุย เป็นผ้าที่ถักด้วยแล่งเงิน หรือแล่งทอง ถักให้เป็นลวดลายต่อกันเป็นผืน ส่วนมากนำมาทำเป็นผ้าสไบ ใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบ และผ้าสไบอีกทีหนึ่ง

คนสมัยโบราณมีวิธีเพิ่มความสวยงามให้ผ้ากรองทองได้อย่างน่าทึ่ง โดยนำปีกแมลงทับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนรูปใบไม้ และปักลงไปบนผ้ากรองทอง ในตำแหน่งที่เป็นลายใบไม้ ทำให้ได้ผ้ากรองทองที่งดงามทรงคุณค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผ้าไทยโบราณอีกหลายชนิดที่ปัจจุบันหาดูได้ยากยิ่งเช่น ผ้าเขียนทอง ผ้าพิมพ์ลายอย่างดี เน้นลวดลาย เพิ่มความสวยงาม ด้วยการเขียนเส้นทองตามขอบลาย ผ้านี้เกิดขึ้นครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ ๑ และใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น

ผ้าปูม เป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชทาน เป็นเครื่องยศขุนนาง ในสมัยก่อนจะมีโรงไหมของหลวงสำหรับทอผ้าสมปักปูม และสมปักเชิงกรวยพระราชทาน ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นลายสีต่างๆ ใช้ตามยศตามเหล่า มีสมปักปูมเป็นชนิดสูงสุด สมปักริ้วเป็นชนิดต่ำสุด 

ปัจจุบันผ้าปูมรู้จักกันในชื่อผ้ามัดหมี่ ในประเทศไทยมีผลิตมาก ทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างแทบทุกจังหวัด  ลักษณะการทอ และรูปแบบของผ้ามัดหมี่นี้พบว่า เป็นเทคนิคที่มีอยู่ทั่วโลก ในประเทศที่มีอารยะธรรมโบราณ ทั้งจีน อินเดีย อินโดนิเซีย หรือในทวีปยุโรป และแอฟริกาก็มีเช่นกัน

ผ้าสมปัก เป็นผ้านุ่งที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ขุนนางตามตำแหน่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะใช้เป็นเครื่องแบบเฉพาะในเวลาเข้าเฝ้าหรือในพระราชพิธีเท่านั้น  เป็นผ้าทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นสีและลายต่างๆ สมปักมีหลายชนิด ได้แก่ สมปักปูม เป็นชนิดดีที่สุด สมปักล่องจวน เป็นสมปักที่ทอเป็นรอยยาว เป็นสมปักชนิดท้องพื้นมีเชิงลาย นอกจากนี้มีสมปักลาย และ สมปักริ้ว ซึ่งเป็นผ้าสามัญ ที่เจ้ากรม ปลัดกรมนุ่งเท่านั้น มิใช่เป็นของพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ผ้าสมรดหรือสำรด เป็นผ้าคาดทับเสื้อครุยในงานพระราชพิธีของขุนนางชั้นสูง หรือเรียกว่า ผ้าแฝง ทำด้วยไหมทองถักโปร่งๆ บางๆ คล้ายผ้ากรองทอง แต่โปร่งและบางกว่ามาก บางทีหมายถึง ผ้าคาดเอว ที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้นปักปีกแมลงทับ เป็นลวดลายดอกไม้เครือเถา เดิมก่อนรัชกาลที่ ๕ ไม่มีการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยสีดำ ในงานพระเมรุใหญ่ๆ เจ้านาย และขุนนาง จึงนุ่งสมปักลายสีต่างๆ คาดทับเสื้อครุย

สำหรับชาวบ้านสามัญชนทั่วไป ก็มีผ้าหลายชนิดเช่น ผ้าขาวม้าหรือผ้ากำม้า เป็นผ้าประจำตัวของผู้ชาย ใช้เป็นทั้งผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเคียนพุง และผ้าพาดไหล่ เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง
ผ้ากาสา เป็นคำ มลายู แปลว่า หยาบ เพราะเป็นผ้าดิบที่ไม่ได้ย้อมฝาด เนื้อหยาบ มีสีหม่น  และผ้าตาโถง เป็นผ้าลายตาสี่เหลี่ยม หรือลายตาทแยงใช้เป็นผ้านุ่งของผู้ชายคล้ายผ้าโสร่ง เป็นต้น


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/