กฎมณเฑียรบาลเรื่องเครื่องแต่งกาย ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง

24 / 02 / 2562 22:32

ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง มีกฎมณเฑียรบาลในกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยข้อบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีและโอกาสต่างๆ รวมทั้งการแต่งกายของชนชั้นสูง และใช้สืบทอดมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงมีข้อห้ามการนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้า บางประเภทสำหรับสามัญชนด้วย เช่น

พระมหากษัตริย์ ทรงเครื่องราชูปโภคพระมหามงกุฎ พระมหากุณฑล พาหุรัด ถนิมมาไล สร้อย มหาสังวาลย์ สเอ้ง อุตรีอุตรา ควงใด ๗ แถว พระธำมะรงค์ ๓ องค์ทุกนิ้ว พระหัตถ์ ขนองกั้งเกญ สนับเพลา รัตนกำพล กองเชิง รองพระบาท
พระอรรคมเหสี พระราชเทวี ทรงราชูปโภค มีมงกุฎ เกือกทอง อภิรม ๓ ชั้น พระราชยานมีจำลอง
พระราชเทวี พระอรรคชายา ทรงเครื่องราชูปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่ สักหลาด มีอภิรม ๒ ชั้น เทวี ยานมีมกรชู
พระเจ้าลูกเธอเอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง
พระเจ้าหลานเธอเอกโท ใส่เศียรเพศมวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว
แม่เจ้าสนองพระโอษฐ ใส่สนองกล้า เสื้อแพรพรรณ  เป็นต้น

นอกจากนี้ พระราชพิธีอาสยุช หรือ พระราชพิธีแข่งเรือเดือน ๑๑ พบว่า พระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเครื่องราชูปโภค คือ ...ตอนเช้าทรงพระมหามงกุฎ กลางวันทรงพระสุพรรณมาลา ตอนเย็นทรงพระมาลาสุกหร่ำ สพักชมพู สมเด็จพระอรรคมเหสี พระภรรยา ทรงพระสุพรรณมาลา นุ่งแพรลายทอง ทรงเสื้อ พระอรรคชายา ทรงพระมาลาราบ นุ่งแพรดารากร ทรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอ ทรงศิรเพศมวย ทรงเสื้อ พระสนม ใส่สนองเกล้า สพักสองบ่า เป็นต้น

ส่วนการแต่งกายของขุนนาง ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ดังนี้
“การแต่งกายขุนนางที่มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่นั้น (สวม) ศีรเพศมวยทองท้าวนั่งเมือง (สวม) ศีรษะเพศมวยทองศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง หมวก ล่วมทอง”

เมื่อมีแขกเมืองเข้าเฝ้าข้าราชการใดสวมเสื้อเก่าคร่ำคร่ามาอยู่ในที่เฝ้าให้เอาตัวออกไปจากหน้าพระที่นั่ง เมื่อแขกเมืองกลับแล้วจึงจัดการชำระโทษ ถ้ารับสารภาพว่าได้นำไปใช้พรำเพรื่อนอกราชการ ให้ภาคทัณฑ์ไว้ เพราะเป็นความผิดครั้งแรก ถ้ากระทำเป็นครั้งที่ ๒ ให้ตี กระทำอีกเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อใดให้ใส่คา 

นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่นๆ เช่น ห้ามนุ่งสีแดง ผ้าชมพูไพรำ ผ้าการะดำที่ไม่มีเชิง ห้ามห่มผ้านอกเสื้อ ห่มผ้าบ่าเดียว ผ้าปัก ผ้าลายมีเชิง และห้ามนุ่งผ้าเหน็บหน้า นุ่งผ้าหิ้วชาย และนุ่งผ้าลอยชาย เข้าไปในเขตพระราชฐานหรือในงาน ฉลองพระราชพิธี หากยังกระทำให้นายประตู นายพระโรงฉีกผ้านั้นเสีย

แต่อย่างไรก็ดี การปูนบำเหน็จรางวัลแก่ทหารที่ไปรบชนะข้าศึกด้วยเสื้อผ้าก็มีเช่นกัน คือ ผู้ที่ชนช้างชนะ จะได้รับบำเหน็จรางวัลเป็นหมวกทอง เสื้อสนอบ และทองปลายแขนและผู้ได้ฟันข้าศึกยามมีชัยชนะจะได้รับ เงินห้าตำลึง ตลับทอง และเสื้อผ้า


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/