เครื่องประดับ(ทอง/เงิน)อัตลักษณ์ของไทย

14 / 03 / 2562 12:56

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับที่สำคัญของโลก ด้วยมีแรงงานมีฝีมือ มีองค์ความรู้ในการทำเครื่องประดับ มีรูปแบบสินค้าที่สวยงามและคุณภาพได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีเครื่องประดับที่มีอัตลักษณ์ของช่างฝีมือระดับท้องถิ่น ซึงที่มีคุณค่า สะท้อนภูมิปัญญา วัฒนธรรม และความเป็นไทยได้ เช่นเครื่องทองเมืองเพชร เครื่องทองสุโขทัย เครื่องถมทอง เป็นต้น
 
เครื่องประดับทอง
เครื่องประดับทองโบราณมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ สุโขทัย และเพชรบุรี โดยความพิเศษของเครื่องประดับทองโบราณนั้น อยู่ที่ค่าความบริสุทธิ์ของทองคำที่ใช้ผลิต ซึ่งมีค่าความบริสุทธิ์สูงถึง 99.5-99.99% และออกแบบลวดลายโดยใช้ศิลปะไทยเช่นเครื่องประดับทองสุโขทัยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัยโบราณ โดยเพิ่มเทคนิคการถักทองและลงยา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีขาวลงไปบนตัวชิ้นงานเพื่อเพิ่มความสวยงาม ในขณะที่เครื่องประดับทองเพชรบุรีมีการใช้เทคนิคพิเศษผลิตแหวนตะไบที่มีลักษณะเป็นแหวนฝังพลอยซีกและมีการตะไบทั้งสองข้างของตัวเรือนให้เป็นร่องลึก การทำลวดลายลูกสน และลายปะวะหล่ำที่เกิดจากการดัดเกลียวลวดทองให้เป็นลวดลายคล้ายกับโคมไฟของจีน เป็นต้น

เครื่องถมทอง/ถมเงิน
เครื่องถมเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่นิยมใช้กันในราชสำนัก แต่ปัจจุบันเป็นสินค้าที่คนทางใต้นิยมสวมใส่ติดตัวเพราะเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้สวมใส่ ทั้งนี้ การผลิตเครื่องถมในปัจจุบัน มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ขึ้นรูป ส่วนใหญ่ทำจากเงินและทอง แล้วจึงแกะสลักลวดลายแบบไทยเข้าไป ซึ่งนิยมใช้ลายกนก เป็นแม่แบบในการแกะสลักให้ตัดกับสีพื้นที่ลงไว้ด้วยน้ำยาสีดำ โดยเครื่องประดับที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นกำไลข้อมือ และแหวน

เครื่องประดับเงิน
การผลิตเครื่องประดับเงินของไทย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย และสุรินทร์  ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไปอย่างเครื่องประดับเงินของเชียงใหม่และน่านจะมีความงดงามอ่อนช้อย ย่านการผลิตที่สำคัญของเชียงใหม่นั้นตั้งอยู่บริเวณถนนวัวลาย ชุมชนบ้านศรีสุพรรณ  อำเภอเมือง และบริเวณบ้านกาด ในอำเภอแม่วาง ขณะที่จังหวัดน่าน แหล่งผลิตสำคัญตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอปัว ในส่วนของจังหวัด สุโขทัย มีแหล่งผลิตอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย โดยมีกรรมวิธีการผลิตที่เป็นภูมิปัญญาประจำท้องถิ่น คือ การถักเส้นเงินเป็นเครื่องประดับ ควบคู่กับการใช้เทคนิคลงยาสีที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัย สำหรับจังหวัด สุรินทร์ มีอาณาเขตอยู่ติดกับประเทศกัมพูชาจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมเข้ามา จึงทำให้การผลิตเครื่องประดับเงินของสุรินทร์ซึ่งอยู่ที่อำเภอเขวาสินรินทร์ มีรูปแบบที่แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น ทั้งในด้านเทคนิคการผลิตที่ส่วนใหญ่เป็นการทำลูกปัดแกะสลักลวดลาย และการทำรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างดอกตะเกา เป็นต้น


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/