รถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมเส้นทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา

03 / 04 / 2562 12:17

ปัจจุบันถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนครและถนนสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีการขยายตัวของชุมชนและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการจราจรแออัด จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้ หนึ่งในนั้นคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง   

รถไฟฟ้าสายสีทองใช้เงินลงทุน 2,080 ล้านบาท เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระยะสั้นแบบโมโนเรล หรือรถไฟฟ้ารูปแบบรางเดี่ยวเป็นรถไฟฟ้าสายรอง (Feeder Line) ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆคือ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงตากสิน-บางหว้า) ที่สถานีกรุงธนบุรี  เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) ที่บริเวณสถานีคลองสาน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ) ที่สถานีประชาธิปก รวมระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีทองเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และไปสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน ประกอบด้วย 4 สถานีคือ
G1 (สถานีกรุงธนบุรี) เป็นสถานีเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมต่อเข้ากับแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีกรุงธนบุรี  วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนครและเข้าสู่สถานีเจริญนคร 
G2 (สถานีเจริญนคร) จะตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง วิ่งต่อไปตามถนนเจริญนคร มุ่งหน้าสู่แยกคลองสาน ก่อนเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา สิ้นสุดที่โรงพยาบาลเลิดสิน
G3 (สถานีคลองสาน) จะตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา เยื้องกับบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน โดยเส้นทางจากสถานีนี้จะวิ่งมุ่งหน้าต่อไปตามถนนสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อเข้าสู่สถานีสุดท้ายของโครงการที่สถานีประชาธิปก  ในอนาคตที่บริเวณสถานีคลองสานของรถไฟฟ้าสายสีทองแห่งนี้จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) อีกด้วย 
G4 (สถานีประชาธิปก) บริเวณสถานีจะตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา บริเวณระหว่างหน้าปากซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 และซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8  และจะเชื่อมต่อเข้ากับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ) ในอนาคต
รถไฟฟ้าสายสีทองจะเปิดให้บริการระยะที่ 1 สถานี G1/G2)ได้ภายในปี 2562 นี้ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อวันทำให้ประชาชนสามารถมีทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อไปทางระบบเรือได้โดยผ่านท่าเรือไอคอนสยาม ที่เปิดให้เรือสาธารณะเข้ามาจอดเพื่อรับผู้โดยสารที่ต้องการสัญจรทางน้ำ ซึ่งจะเกิดการเดินทางที่ครบวงจรคือ ระบบรถ ราง และเรือในที่สุด


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/